Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิศวะ หุ่นยนต์ฯ พีไอเอ็ม จับมือ รพ. เจริญกรุงประชารักษ์ คิดค้น “วอร์ด Cowit 2020” นวัตกรรมและหุ่นยนต์ลดความเสี่ยง-สัมผัส เซฟทีมแพทย์ พยาบาลดูแลผู้ป่วย

Posted By PRAdmin | 29 ก.ค. 63
13,942 Views

  Favorite

 

PR PIM
PR PIM

สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ลุยภารกิจ “วอร์ด Cowit 2020” (Co-Creation Ward Innovation Technology 2020) “หุ่นยนต์และอุปกรณ์” ใช้ขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ยา “เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย” สนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ลดการตรวจให้สารละลายตามรอบเวลาบนวอร์ด ออกแบบพัฒนาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการสัมผัส แบ่งเบาภารกิจดูแลผู้ป่วย โดยเกิดจากการระดมสมองระหว่าง ผศ. เกรียงไกร   ทัศนวิภาส อาจารย์ประจำ และ ทีมนักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) นำความเชี่ยวชาญของอาจารย์และความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์จากการเรียนการสอน ประสบการณ์การฝึกปฏิบัติงานมานับไม่ถ้วน ผสานความร่วมมือกับ นายแพทย์ราวิน วงศ์สถาปนาเลิศ, นายแพทย์เกียรติศักดิ์ ทัศนวิภาส ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ร่วมคิดค้นนวัตกรรม พัฒนาตลอดกระบวนการในวอร์ดพิเศษนี้ขึ้นจนพร้อมใช้งานจริง ซึ่งในปัจจุบันขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีงานล้นมือ ต้องปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาให้ลดลง จึงถูกคิดค้นนำมาใช้ในโรงพยาบาลเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ ตอบสนองผู้ใช้อย่างแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย

1.หุ่นยนต์ที่ใช้ในการนำส่งอาหารและยาให้กับผู้ป่วยจำนวน 2 ตัว โดยตัวแรกคือ “น้อง C” ย่อมาจากคำว่า Collaborate หมายถึงการร่วมมือร่วมใจในการสร้างสรรค์ พัฒนา ระหว่างทีมแพทย์และอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พีไอเอ็ม พร้อมด้วยผู้ร่วมสนับสนุนจากบริษัทต่างๆ มากมาย และตัวที่ 2 คือ “น้อง W” มาจากคำว่า Well หมายถึงความคาดหวังของทีมผู้มีส่วนร่วมทุกท่านประสงค์ให้ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิม ทั้งสุขภาพของผู้ติดเชื้อ สถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก

2.ตู้ฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคหลังจากที่ “น้อง C และ น้อง W” ส่งอาหารและยาให้แก่ผู้ป่วยเสร็จในแต่ละรอบ

3.ประตูอัตโนมัติหน้าห้องผู้ป่วย แต่ละห้องติดตั้งเพื่อให้หุ่นยนต์สามารถเดินเข้าไปให้บริการผู้ป่วยได้ถึงเตียงโดยลดการสัมผัสประตู

4.เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย (อยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร) ใช้สำหรับเฝ้าติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วยว่าอยู่ในอัตราปกติหรือไม่ ผ่านโปรแกรมหรือแอพลิเคชั่นบนมือถือ

PR PIM

รูปแบบการทำงานของหุ่นยนต์ “น้อง C และ น้อง W” คือเดินตามเส้นทางและใช้แผ่น RFID เป็นตัวช่วยในการตรวจสอบตำแหน่งของห้อง ซึ่งทำงานง่าย สะดวก เพียงกดปุ่มหมายเลขห้องที่ต้องการ จากนั้นหุ่นยนต์จะนำส่งอาหารและยาไปให้ในห้องผู้ป่วย โดยต่อ 1 รอบ สามารถทำได้สูงสุดถึง 6 ห้อง ซึ่งจะทำการประมวลผลอัตโนมัติในการเลือกเส้นทางห้องใกล้ที่สุดไปจนถึงห้องไกลที่สุด จากจุดปล่อยหุ่นยนต์ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วหุ่นยนต์อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ดังนั้นหุ่นยนต์จะต้องเดินไปยังตู้ฆ่าเชื้อ UVC โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้การอบฆ่าเชื้อจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเชื้อโรคได้ถูกกำจัดเป็นที่เรียบร้อย และพร้อมสำหรับการใช้งานต่อไป

PR PIM

ในอนาคตทีมผู้พัฒนาเล็งเห็นว่าหุ่นยนต์ 1 ตัวควรจะปฏิบัติหน้าที่ได้มากกว่า 1 อย่าง อาทิ 1. การตรวจคัดกรองบุคคลที่สันนิษฐานว่าอาจจะติดเชื้อ ผ่านการทำแบบสอบถามด้วย QR-Code ที่หน้าจอหุ่นยนต์ ตลอดจนนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์หาปัจจัยที่ส่งผลต่อการติดโรคเพื่อนำมาพัฒนาต่อไป 2. การใช้เทคนิคของ Image-Processing ในการตรวจจับบุคคลที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย 3. ในกรณีที่ติดหลอด UVC รอบหุ่นยนต์ทั้ง 6 เสา สามารถเปลี่ยนหน้าที่ จากหุ่นยนต์ส่งอาหารและยาเป็นหุ่นยนต์ ฆ่าเชื้อได้ทันที เพื่อความสะดวกในการเดินเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการบังคับด้วยจอยสติ๊ก และ 4. ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่สำคัญต่างๆ ของโรงพยาบาลผ่านหน้าจอของหุ่นยนต์

PR PIM

 

PR PIM

ผศ.เกรียงไกร ทัศนวิภาส อาจารย์สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม หัวหน้าทีมผู้พัฒนา คิดค้น“วอร์ด Cowit 2020” กล่าวว่า “เรานำจุดเด่นของระบบของหุ่นยนต์เชื่อมเข้ากับเทคโนโลยีทางวิศวะเชิงเทคนิค สร้างโปรแกรมการใช้งานให้สะดวกต่อการทำงาน จับจุดเด่นของระบบ Part User Interface (UI) ให้ใช้งานง่าย โดยทีม Developer ของเราเป็นนักศึกษาด้าน Robotic Engineer ที่ทดลองปรับเปลี่ยนระบบ พัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานไปกับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นผู้ใช้งานจริง มีอุปกรณ์ การดูแลรักษาค่อนข้างง่าย ใช้งบประมาณการผลิตต่ำ ประสิทธิภาพการใช้งานสูง ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจ เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยคณะทีมงานประกอบด้วยทีมศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ อาจารย์ นักศึกษา สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม จำนวน 9 คน รวมถึงบริษัทพาร์ทเนอร์ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน อาทิ บริษัท ออลล์ เวลเนส จํากัด (ALL Wellness) บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด (Ford Thailand) และ บริษัท เอ็ม.ที.คอนโทรล แอนด์ เทคโนโลยี จำกัด (M.T.CONTROL & TECHNOLOGY) ให้เกิดระบบอัจฉริยะนี้ขึ้น

PR PIM

ล่าสุดได้พัฒนาหุ่นยนต์นำส่งอาหารและยาถึงเตียงผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสในการติดเชื้อจากการสัมผัสกับประตู พร้อมด้วย เครื่องติดตามการให้สารละลายแก่ผู้ป่วย อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร เพื่อสนับสนุนการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ ลดการตรวจให้สารละลายตามรอบเวลา ซึ่งปกติพยาบาลจะต้องเข้าไปตรวจการให้สารละลายของผู้ป่วยเป็นรอบตามเวลาที่กำหนด เพื่อป้องกันการไหลที่อาจไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งสามารถติดตามผ่านโปรแกรมหรือแอพลิเคชันได้จากสมาร์ทโฟน ในปัจจุบันเครื่องดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูง ทางทีมจึงคิดค้นเครื่องนี้ขึ้นมาในราคาถูกและได้ประสิทธิภาพ ถือได้ว่าตอบโจทย์ในการช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดีอีกทางหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้”

PR PIM

นพ.เกียรติศักดิ์ ทัศนวิภาส ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ทดลองใช้ “วอร์ด Cowit 2020”กล่าวว่า “โควิด-19 เป็นโรคใหม่ แพทย์จึงต้องประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา และหาวิธีป้องกันช่วยลดความเสี่ยงจากการ ติดเชื้อในการสัมผัสกับผู้ป่วย ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อปรับตัวให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงานสูงสุด เราทำงานร่วมกับวิศวกรได้ทดลองและพัฒนาไปด้วยกัน “วอร์ด Cowit 2020” เข้ามาตอบโจทย์ส่วนนี้ จากการใช้งานจริงพบว่า โปรแกรมใช้งานง่าย ตัวหุ่นดีไซน์ให้มีตะขอเหมาะกับแพ็กเกจจิ้งอาหาร-ยา โดยระบบการทำงานทั้งหมดสั่งการผ่านแอปพลิเคชัน ตั้งแต่ต้นจนหุ่นยนต์ผ่านการฆ่าเชื้อเสร็จสิ้น  จึงสะดวก ไม่ยุ่งยาก ลดความผิดพลาดของการดูแลผู้ป่วย สร้างความเชื่อมั่นกับผู้ใช้งาน ไม่เพิ่มขั้นตอนการทำงาน เพียงแค่ผู้ใช้งานเรียนรู้และควบคุมขั้นตอนการทำงานให้ถูกต้อง”

PR PIM

ปัจจุบันระบบจัดการหอพักผู้ป่วยอัจฉริยะ “วอร์ด Cowit 2020” ติดตั้งและได้ทดสอบภายในพื้นที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ สร้างความพึงพอใจและอำนวยความสะดวกให้กับแพทย์และบุคลากร ช่วยปฏิบัติงาน ดูแลผู้ป่วยระยะไกล ลดความเสี่ยงในการใกล้ชิดและสัมผัส ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จ ที่อาจารย์และทีมนักศึกษาสาขาวิศวะหุ่นยนต์ฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญ ผนวกความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต เตรียมพร้อมการเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 และก้าวต่อไปจากนี้ ทีมผู้พัฒนาอยู่ระหว่างการพัฒนาชิ้นงานในเฟสถัดไปด้วยความมุ่งมั่นเพื่อสร้างเครื่องมือ นวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยเป็นส่วนหนึ่ง สนับสนุนวงการแพทย์ไทยต่อไป 

ทีมงานผู้พัฒนา “วอร์ด Cowit 2020”

สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)

1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์เกรียงไกร ทัศนวิภาส อาจารย์ประจำ

2. นายธิติวุฒิ พิมพิสัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4

3. นายพิชญุฒน์ ควันทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 4

4. นายอัครวินท์ กุลแก้ว นักศึกษาชั้นปีที่ 4

5. นายพรประสิทธิ์ ศุภพล นักศึกษาชั้นปีที่ 4

6. นายวุฒิกร เทพวรรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4

7. นายอนุภาพ บุญพา นักศึกษาชั้นปีที่ 4

8. นายจอมศาสตร์ จอมสืบ นักศึกษาชั้นปีที่ 4

9. นายกรีฑา เจริญพร นักศึกษาชั้นปีที่ 4

10. นางสาวอรณิชชา พรหมจอม นักศึกษาชั้นปีที่ 4

ทีมศัลยแพทย์ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

1. นายแพทย์ราวิน วงศ์สถาปนาเลิศ โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

2. นายแพทย์เกียรติศักดิ์ ทัศนวิภาส โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • PRAdmin
  • 0 Followers
  • Follow