ครีมกันแดดอาวุธคู่ใจของสาวๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เวลาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดด นอกจากการให้ความสำคัญกับค่า SPF สภาพผิวพื้นฐานที่มีปฏิกิริยาต่อครีมกันแดด สภาพของเนื้อครีมที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งานแล้ว หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์กันแดดเองก็มีประเภทที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลมาฝากกับครีมกันแดด 2 ประเภทที่มีวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดตอนนี้ โดยมีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของเนื้อผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพของการปกป้องผิวจากแสงแดด จะมีประเภทไหนบ้างมาดูกันเลยดีกว่า
ผลิตภัณฑ์กันแดดประเภท Physical
ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมหลักคือแร่ธาตุ ได้แก่ Zinc Oxide ที่มีคุณสมบัติคือสามารถป้องกันรังสี UV ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และอีกหนึ่งส่วนผสมคือ Titanium Dioxide ที่ช่วยป้องกันทั้งรังสี UVA และ UVB ซึ่งกระบวนการปกป้องจากแสงแดดของผลิตภัณฑ์กันแดดประเภทนี้คือหลังจากที่ทาลงไปแล้ว เนื้อครีมจะเคลือบอยู่บนผิวหนัง จากนั้นเมื่อออกแดดก็จะเป็นวิธีการสะท้อนรังสี UV ออกจากผิวหนัง
ข้อดี
อย่างแรกคือเรื่องของคุณสมบัติที่สามารถป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB ตามที่กล่าวไปในข้างต้น เมื่อหลังจากทาเสร็จแล้วเนื้อครีมจะเคลือบอยู่บนผิวหนัง เมื่อออกแดดจะมีกระบวนการทำงานแบบสะท้อนกลับ ทำให้หลังทาเสร็จแล้วไม่ต้องรอหรือทิ้งไว้ให้แห้ง แต่สามารถออกแดดได้เลย อยู่ได้นาน ไม่ต้องทาซ้ำบ่อยๆ ระหว่างวัน ใช้แล้วโอกาสเกิดการระคายเคืองมีน้อย เหมาะกับผิวแพ้ง่ายและไม่ก่อให้เกิดอาการอุดตันในภายหลัง
ข้อเสีย
แม้ว่าในระหว่างวันครีมกันแดดประเภทนี้จะสามารถอยู่ได้นานกว่าประเภทอื่นๆ โดยไม่ต้องทาซ้ำ แต่เมื่อโดนเหงื่อหรือน้ำก็สามารถหลุดออกได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งถ้าหากโดนเหงื่อหรือน้ำแล้วข้อเสียหลักเลยคือจะทำให้เห็นคราบขาวชัดเจน หากเป็นสาวผิวเหลืองหรือผิวแทนควรระมัดระวังข้อเสียนี้ นอกจากนี้เนื้อผลิตภัณฑ์ค่อนข้างหนักและหนาทึบ หากเป็นสาวผิวมันหรือสาวๆ ที่จำเป็นต้องแต่งหน้าทับ เนื้อผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้อาจทำให้หลุดหรือเยิ้มระหว่างวันก็เป็นได้
ผลิตภัณฑ์กันแดดประเภท Chemical
สำหรับครีมกันแดดประเภทนี้อาจมีกระบวนการทำงานที่แตกต่างออกไปจากประเภท Physical ตรงที่หลังทาเสร็จเนื้อผลิตภัณฑ์จะทำหน้าที่ดูดซับรังสี UV แล้วคายออกมาในรูปแบบของความร้อน แทนที่จะสะท้อนกลับ ดังนั้นแนะนำว่าสาวๆ ที่จะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดประเภทนี้แล้วล่ะก็ หลังทาเสร็จควรทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาทีก่อนออกแดดจะดีกว่า เพราะจะช่วยให้เนื้อผลิตภัณฑ์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสารหรือส่วนผสมที่อยู่ในผลิตภัณฑ์กันแดดประเภท Chemical นั้นมีมากกว่าประเภท Physical เพื่อให้สามารถปกป้องได้ทั้งรังสี UVA และ UVB นั่นเอง
ข้อดี
เนื้อผลิตภัณฑ์มีลักษณะบางเบา เกลี่ยง่าย สามารถใช้ได้ในทุกๆ วัน และด้วยตัวส่วนผสมของสารกันแดดที่มีมากกว่าประเภท Physical จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้เยอะก็สามารถปกป้องแสงแดดได้ดี และไม่ต้องกังวลว่าเมื่อออกแดดแล้วรังสี UV จะแทรกซึมเข้ามาเหมือนการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดประเภท Physical
ข้อเสีย
แม้ว่าเนื้อผลิตภัณฑ์จะบางเบา สามารถใช้ได้ในทุกๆ วัน แต่ก็ยังคงต้องระวังว่าจะเกิดโอกาสการอุดตันรูขุมขน โอกาสในการเกิดการระคายเคือง เนื่องจากมีส่วนผสมของสารกันแดดมาก แน่นอนว่าสารเคมีจึงมีจำนวนมากกว่าตามไปด้วย นอกจากนี้หากเลือกใช้ตัวที่มีค่า SPF สูง โอกาสระคายเคืองก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน หากทาแล้วออกแดด เมื่อโดนเหงื่อหรือความชื้นอาจหลุดได้ ทำให้ต้องทาซ้ำระหว่างวันมากขึ้นตามไปด้วย
ท้ายที่สุดแล้วอาจจะสรุปไม่ได้ว่าครีมกันแดดประเภทไหนดีกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพผิวของสาวๆ วัตถุประสงค์ในการใช้งาน โอกาสการสัมผัสกับแดดของแต่ละคน บางคนเหงื่อออกมาก บางคนเหงื่อออกน้อย อย่างไรก็ตามทางเราแนะนำให้เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิวมาเป็นอันดับแรก ใช้แล้วต้องไม่เกิดอาการแพ้ และเพื่อให้เนื้อผลิตภัณฑ์สามารถแสดงประสิทธิภาพในการปกป้องแสงแดดให้ได้มากที่สุดนั่นเอง