แม้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่จะมีรูปแบบการนอนเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ตลอดทั้งวัน แต่สำหรับมนุษย์นั้นกลับเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีการแบ่งช่วงเวลาการตื่นและการนอนเป็น 2 ช่วงอย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ฟันธงลงไปได้ว่า นี่คือรูปแบบการนอนตามธรรมชาติของมนุุษย์เสียทีเดียว เพราะเด็กเล็ก ๆ หรือผู้สูงอายุก็มักจะมีช่วงเวลาการนอนแบบสั้น ๆ ตลอดทั้งวันอยู่เหมือนกัน และนี่ทำให้การงีบในตอนกลางวันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงข้อดีของการงีบด้วย
โดยงานวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาระยะเวลาในการงีบหลับที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความเหนื่อยล้า เพิ่มความตื่นตัว มีภาวะอารมณ์ที่ดีขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น มีปฏิกิริยาการตอบสนองและความจำที่ดีขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ระยะเวลาในการงีบหลับที่แนะนำคือช่วง 10-20 นาที จะสร้างประโยชน์สูงสุด ส่วนการงีบที่มากกว่านั้น คือประมาณ 30 นาที แล้วถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาจากการหลับลึกแบบไม่ค่อยเต็มใจ คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ของเราจะช้าลงประมาณ 1 รอบต่อวินาที และนั่นทำให้เกิดอาการมึนงงในตอนตื่นได้ ดังนั้น ระยะเวลาในการงีบหลับกลางวันจึงเป็นเป็นข้อควรระวังข้อหนึ่ง
ส่วนการศึกษาของนาซ่า (NASA) ในนักบินของกองทัพและนักบินอวกาศที่มีอาการง่วงนอน พบว่าการงีบหลับ 40 นาทีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ 34% และช่วยให้มีความตื่นตัวได้ถึง 100% เลยทีเดียว ซึ่งมันจะช่วยลดข้อผิดพลาดหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากความง่วงได้มาก หรือการงีบที่นานกว่านั้น ประมาณ 60-90 นาที อาจจะเหมาะสำหรับกลุ่มคนที่ทำงานเป็นกะ ผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน หรือพ่อแม่มือใหม่ มากกว่าคนทั่วไป
อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องงีบหลับในตอนกลางวันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน หากนอนหลับในเวลากลางคืนได้เพียงพออยู่แล้ว ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อการนอนตามเวลาปกติได้ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับกลุ่มผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับในเวลากลางคืน การงีบหลับในตอนกลางวันจะยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้นไปอีกเพราะจะไม่ง่วงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นข้อควรระวังในการงีบหลับกลางวันอีกข้อหนึ่ง
การงีบหลับอาจทำได้ในกลุ่มคนที่มีไลฟ์สไตล์ที่ยุ่งมาก ๆ หรือมีกิจกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นโดยที่ร่างกายยังไม่ทันได้ปรับตัว ทำให้รู้สึกอ่อนล้ามากกว่าปกติ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็ไม่ควรงีบหลัง 15.00 น. เพราะจะรบกวนการนอนในตอนกลางคืนได้
หากจำเป็นต้องนอนงีบเพิ่มในระหว่างวัน โดยสาเหตุไม่ได้มาจากความเหนื่อยล้าจากกิจกรรมใหม่ ๆ หรือการใช้ชีวิตที่วุ่นวายกว่าปกติ ก็อาจมีสาเหตุมาจากการนอนที่ไม่ได้คุณภาพในตอนกลางคืน นอนไม่หลับ หรือมีการรับประทานยาบางชนิด ที่รบกวนการนอน ควรปรึกษาแพทย์ และถ้าจำเป็นต้องงีบหลับในเวลากลางวันจริง ๆ ก็ควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพักผ่อน นอนในที่เงียบและมืดในห้องที่ปลอดโปร่ง อุณหภูมิกำลังดี เพื่อให้การงีบหลับแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพสูงสุด