ไม่กินมื้อเช้า
การงดมื้อเช้าจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างเสริมพลังงานและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ทำให้สมองไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลีย และยังทำให้ร่างกายรู้สึกหิวกว่าปกติ จนเราต้องกินเยอะขึ้นในมื้อถัดไป กลายเป็นว่าอ้วนกว่าเดิม
กินใกล้เวลานอน
ร่างกายต้องใช้เวลาย่อยอาหารประมาณ 2-3 ชั่วโมง หากกินปุ๊บแล้วนอนปั๊บ ร่างกายก็จะปรับโหมดเข้าสู่การพักผ่อน ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลงและเกิดการสะสมพลังงานในรูปของไขมันมากขึ้น ถ้าไม่อยากพุงป่องพอกินเสร็จแล้วก็อย่ารีบนอนล่ะ
อดอาหารเพื่อลดความอ้วน
การอดอาหารจะช่วยให้น้ำหนักลดลงแค่เพียงชั่วคราว และยังเสี่ยงที่น้ำหนักจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง หรือที่เรียกว่า ‘YOYO Effect’ เพราะการอดอาหารจะทำให้ร่างกายปรับตัวให้ใช้พลังงานน้อยลง และเมื่อกินอาหารเข้ามาอีกก็จะเกิดการสะสมมากขึ้นหรือทำให้อ้วนขึ้นนั่นเอง
กินไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วย
หลาย ๆ คนน่าจะเคยทำกันบ่อย อย่างดูซีรีส์พร้อมกับกินขนม ไถทวิตเตอร์พร้อมนั่งกินข้าว การกินแบบนี้จะทำให้ไขมันสะสมมากขึ้น โดยปกติแล้วเรามักจะมุ่งความสนใจไปที่กิจกรรมหลักที่กำลังทำ และการกินเหมือนเป็นกิจกรรมเสริมที่เราลืมนึกถึง ทำให้เรากินได้เยอะกว่าปกติจนไขมันสะสมนั่นเอง
น้ำตาลคือเพื่อนรัก
หลายคนขาดความหวานไม่ได้ ต้องกินน้ำตาลให้ครบสามมื้อ ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่เราควรกินต่อวันคือไม่ควรเกิน 4-6 ช้อนชา น้ำตาลในที่นี้รวมถึงอาหารจำพวกแป้งด้วย เมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงาน แต่ถ้ามากเกินไปจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย และอาหารรอบตัวเราก็เต็มไปด้วยน้ำตาลเยอะมาก เช่น ชาเขียวรสน้ำผึ้ง 1 กล่อง มีน้ำตาล 30 กรัม (7.5 ช้อนชา) หรือ นมเปรี้ยวขวดเล็ก 1 ขวด มีน้ำตาล 17.6 กรัม (4.4 ช้อนชา) เป็นต้น แล้วคิดดูว่าในหนึ่งวันเราจะเจอน้ำตาลในอาหารที่กินไปเยอะแค่ไหน ถ้าไม่อยากให้หน้าท้องขยายเป็นพุงก็ต้องลดน้ำตาลกันน๊า
ไม่ต้องอดอาหาร แค่ปรับพฤติกรรมการกิน ก็จะช่วยควบคุมน้ำหนักและลดพุงได้แล้ว #ผอมได้ไม่ต้องอด
• ก่อนกินอาหารทุกมื้อให้ดื่มน้ำ 2 แก้ว
• กินผลไม้ที่เส้นใยสูงและให้พลังงานน้อยอย่าง ‘แอปเปิ้ล’ วันละ 1 ลูกก่อนกินข้าว
• กินผักเยอะ ๆ เพราะผักมีเส้นใยสูง จะช่วยทำให้เรารู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
• ทำอาหารด้วยการต้ม นึ่ง ย่าง แทนการผัดหรือทอด
• ใช้วิธีปรุงอาหารด้วยพืชผักต่าง ๆ เช่น ความหวานจากหัวไชเท้า ความเปรี้ยวจากมะนาว จะช่วยให้เราลดการใช้น้ำตาลและเกลือได้
• เปลี่ยนมาใช้จานข้าวที่เล็กลงจะช่วยให้เรากินได้น้อยลงกว่าเดิม
• เคี้ยวอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด จะทำให้เรากินข้าวในปริมาณเท่าเดิมแต่อิ่มมากขึ้น
• กินแค่พออิ่ม อย่ากินจนแน่นท้องเกินไป และอย่าเสียดายถ้ากินไม่หมด
• เปลี่ยนมากินข้าวกล้องและขนมปังโฮลวีต ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน มีไฟเบอร์สูง จะทำให้อิ่มนานขึ้น
• ถ้ากินอาหารหมดแล้วแต่ยังรู้สึกอยากกินต่อ ให้ลุกออกมาเดินเล่นหรือทำอย่างอื่น จะช่วยทำให้ความอยากอาหารลดลง
แหล่งข้อมูล
ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. (2557).ชีวิตใหม่ไร้พุง How to สลายน้ำหนักด้วยหลัก 3 อ.. กรุงเทพฯ: SOOK publishing