เพอร์ไลต์ เป็นหินภูเขาไฟที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เกิดขึ้นจากลาวาที่มีการเย็นตัวอย่างรวดเร็ว (Volcanic glass) และกลายเป็นหินออบซิเดียน (Obsidian) ซึ่งเมื่อน้ำทำปฏิกิริยากับหินออบซิเดียนเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดเพอร์ไลต์ขึ้น ตามธรรมชาติแล้ว เพอร์ไลต์จะมีสีดำหรือสีเทาและมีรูปร่างที่ไม่แน่นอน
เพอร์ไลต์คือหินภูเขาไฟ ค่อนข้างมีน้ำหนักและมีความหนาแน่น ในเพอร์ไลต์มีส่วนประกอบของแร่ธาตุหลายชนิด เช่น
- ซิลิกอนไดออกไซด์ หรือ ซิลิกา (Silicon Dioxide) 70 – 75 เปอร์เซ็นต์
- อะลูมิเนียมออกไซด์ (Aluminum Oxide)
- โซเดียมออกไซด์ (Sodium Oxide)
- โพแทสเซียมออกไซด์ (Potassium Oxide)
- ไอเอิร์นออกไซด์ (Iron oxide)
- แมกนีเซียมออกไซด์ (Magnesium Oxide)
- แคลเซียมออกไซด์ (Calcium Oxide)
- น้ำ 3-5 เปอร์เซ็นต์
เพอร์ไลต์เป็นแร่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่พลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ มักพบในเหมืองแร่ ซึ่งส่วนมากจะพบในประเทศกรีซ สหรัฐอเมริกา ตุรกี และญี่ปุ่น เนื่องจากเพอร์ไลต์เป็นแร่ธาตุที่มีราคาถูกจึงมักใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ปูนปลาสเตอร์ การก่ออิฐ การทำฝ้าเพดาน หรือการทำกระเบื้อง นอกจากนั้นคุณสมบัติของเพอร์ไลต์ยังเหมาะแก่การนำไปใช้ในการปลูกพืชอีกด้วย แต่ก่อนที่จะนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกพืชนั้น เพอร์ไลต์จะต้องมีกระบวนการในการแปรสภาพให้มีน้ำหนักเบา และเป็นสีขาว เพื่อนำมาใช้ในการปลูกพืช
เพอร์ไลต์ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่ปลูกพืชและปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์ สาเหตุที่เพอร์ไลต์มีคุณสมบัติในการเหมาะที่จะเป็นวัสดุปลูก มีดังนี้
1. เพอร์ไลต์มีรูปร่างที่แน่นอนและคงสภาพอยู่ได้ ไม่เสื่อมสภาพง่ายเมื่อใช้เป็นวัสดุปลูก
2. มีค่าความเป็นกรด-เบส (pH) ที่เป็นกลาง
3. ไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อพืชและเป็นแร่ธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
4. มีคุณสมบัติที่เป็นรูพรุน ทำให้มีอากาศสามารถเข้าไปได้และรากสามารถหายใจได้
5. มีคุณสมบัติที่สามารถดูดซับน้ำได้
คุณสมบัติข้างต้นนี้ทำให้เพอร์ไลต์หมาะสมแก่การใช้เป็นวัสดุปลูกในการปลูกพืช ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช โดยคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้พืชเจริญเติบโต คือ อากาศและการระบายน้ำ ซึ่งเพอร์ไลต์มีคุณสมบัติสำคัญที่เหมาะแก่การทำให้พืชเจริญเติบโต
1. เพอร์ไลต์มีคุณสมบัติที่โปร่ง ทำให้มีอากาศในวัสดุปลูกสูง พืชจำเป็นต้องรับออกซิเจนไม่ใช่เฉพาะทางใบแต่ทางรากก็เช่นกัน เมื่อวัสดุปลูกมีรูพรุนมากเท่าใด รากของพืชจะยิ่งดูดซึมได้ดี และการมีอากาศในวัสดุปลูก เป็นผลให้ระบบรากมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
2. น้ำที่มากเกินไปอาจทำให้รากของพืชเน่าได้ การระบายน้ำที่ดีจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อากาศสามารถเข้าไปในดินได้ ดังนั้น การใส่เพอร์ไลต์เข้าไปกับดินทำให้ดินมีช่องว่างนอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติที่ระบายน้ำได้ดี ไม่ทำให้น้ำขังในดิน
1. ใช้ดินผสมกับเพอร์ไลต์หรือพีตมอสในสัดส่วนที่เท่ากัน จะทำให้ดินโปร่ง ระบายน้ำได้ดีและมีอากาศถ่ายเทในดิน
2. เพอร์ไลต์สามารถใช้ในการโรยหน้าดินได้ ช่วยในการระบายของน้ำ
3. หากต้องการปักชำพืชหรือให้พืชรากเดิน โดยปกติแล้วเราสามารถแช่น้ำได้ แต่หากใช้เพอร์ไลต์ในการปักชำและใส่ไว้ในถุงโปร่งจะยิ่งทำให้รากมีการเจริญเติบโตไวยิ่งขึ้น