คนที่รับประทานมังสวิรัติจำเป็นต้องคิดวางแผนเรื่องการกินค่อนข้างรัดกุม โดยเฉพาะหากอยู่ในวัยเด็กหรือวัยรุ่น คนท้อง หรือให้นมบุตร ซึ่งจำเป็นต้องได้รับสารอาหารมากกว่าปกติในการเจริญเติบโต และด้วยความต้องการทางสารอาหารที่อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัยและบุคคล ความเคร่งครัดในการกิน รวมถึงการเข้าถึงแหล่งอาหารที่อาจจะมีจำกัดในแต่ละท้องถิ่น ทำให้มังสวิรัติสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ได้แก่
1. Lacto-vegetarian โดย Lacto มาจากแลคโตสซึ่งเป็นกลุ่มโมเลกุลน้ำตาลที่อยู่ในนมและผลิตภัณฑ์จากนมอย่างเนยและชีส ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่กินไข่และเนื้อสัตว์ทั้งบกและทะเลทั้งหมดแต่กินอาหารจำพวกนมได้
2. Ovo-vegeterian โดย Ovo ก็มาจาก Oval วงรี รูปไข่ ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้จะไม่กินเนื้อสัตว์และนมแต่กินไข่ได้
3. Lacto-ovo vegeterian เป็นกลุ่มที่กินทั้งไข่ทั้งนมได้
4. Pescatarian กลุ่มที่กินแต่ผักและปลา
5. Pollotarian กลุ่มที่กินแต่ผักและเนื้อสัตว์ปีก
6. Vegan เป็นกลุ่มที่นิยมที่สุด โดยกลุ่มนี้จะไม่กินเนื้อและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องหรือมาจากเนื้อเลย ซึ่งไม่กินทั้งเนื้อสัตว์บก สัตว์ทะเล สัตว์ปีก และยังไม่กินไข่ นม เนย ชีส อีกด้วย เรียกว่ากินแต่พืชล้วน ๆ
สารอาหารที่จำเป็นต้องระวังสำหรับคนที่เป็นมังสวิรัติเพราะว่ามีน้อยในพืชได้แก่ เหล็ก แคลเซียม โปรตีน สังกะสี วิตามินบี 12 วิตามินดี และโอเมก้า3 (Omega-3) นั่นแปลว่า อาจจะต้องกินอาหารจำพวกอื่นมากเป็นพิเศษเพื่อให้ได้สารอาหารเพียงพอ เช่น เต้าหู้ ผักบร็อกโคลีซึ่งให้ธาตุเหล็ก หากคุณไม่นิยมเต้าหู้หรือเหม็นเขียวผักบร็อกโคลีก็จะใช้ชีวิตยากหน่อย
โปรตีนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการซ่อมแซ่มร่างกายและหาได้จากธัญพืชจำพวกถั่ว ทำให้ต้องกินถั่วเยอะขึ้นเพื่อชดเชยเนื้อสัตว์ที่ขาดหาย แคลเซียมจากผักใบเขียว สังกะสี วิตามินดี และบี 12 ได้จากเต้าหู้และธัญพืช น้ำมันพืชบางชนิดและเมล็ดแฟล็กซ์มีโอเมก้า3 ดังนั้น การกินมังสวิรัติจึงไม่ใช่แค่การกินผักและผลไม้ แต่ธัญพืช ถั่ว และเมล็ดพืชต่าง ๆ รวมถึงน้ำมันบางชนิดก็เป็นสิ่งจำเป็น แถมยังต้องระวังเรื่องการปรุงเนื่องด้วยวิตามินที่หาได้ยากอยู่แล้วในธัญพืชอาจจะหายไปหากโดนความร้อนอีกต่างหาก การเลือกชนิดของแหล่งอาหารและวิธีการปรุงจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อคนที่กินอาหารมังสวิรัติ
นอกเหนือจากข้อควรระวังเรื่องชนิดและสารอาหารที่จะได้รับ การที่จะเปลี่ยนคนทุกคนบนโลกให้ไปกินพืช อาจเป็นการพลิกเปลี่ยนโลกนี้ในทางที่ดีขึ้นอย่างมาก แม้ไม่ใช่ทุกพื้นที่จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ และด้วยจำนวนคนที่มากจนแทบจะล้นโลกในปัจจุบัน ปัญหาการขาดแคลนอาหารก็ยังมีอยู่ในหลายพื้นที่ของโลก แต่การที่จะปรับเปลี่ยนพื้นที่เลี้ยงสัตว์ การทำปศุสัตว์ทั้งหมดให้กลายเป็น นา สวน ไร่ เราต้องเปลี่ยนพื้นที่กว่า 33 ล้านตารางกิโลเมตรที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ในปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่อีกจำนวนมากที่เพาะปลูกผลผลิตเพื่อเป็นอาหารให้กับสัตว์ ให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และนั่นอาจจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทน ซึ่งเกิดจากมูลและของเสียจากสัตว์ได้ในทันที
นักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าก๊าซที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ทำให้โลกร้อนมากกว่าไอเสียที่เกิดจากการสันดาปเครื่องยนตร์ในรถยนต์ เครื่องบิน รวมถึงพาหนะต่าง ๆ รวมกันทั้งโลกเสียอีก