ยอมรับเรื่องที่เกิดขึ้นให้ได้ก่อน
เราต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่า เรื่องนี้มันเกิดขึ้นจริง เกิดขึ้นไปแล้ว และตอนนี้มันคืออดีต พร้อมกับสำรวจความรู้สึกของตัวเองว่า เรื่องนี้มันส่งผลต่อตัวเรายังไงบ้าง มันทำให้เราเจ็บปวด มันทำให้เราเศร้า หรือมันสร้างความรู้สึกอะไรให้กับเรา เพื่อที่จะได้เข้าใจและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น
หาวิธีแก้ปัญหา
เมื่อรู้แล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันส่งผลยังไงกับเรา ต่อมาคือต้องหาวิธีแก้ปัญหาแบบไม่ซับซ้อน เพื่อให้สมองไม่ต้องค้นหา สมองจะได้ผ่อนคลายขึ้น พอหาวิธีแก้ปัญหา หาทางออกให้กับเรื่องนี้ได้แล้ว ก็หยุดคิดถึงมัน อย่าไปนั่งคิดมากอีก ไม่งั้นสมองจะไม่ลืมเรื่องนี้
เลิกนึกถึง
เข้าใจว่าอาจจะทำได้ยาก แต่อยากให้ลองหาเรื่องใหม่ ๆ หรือหาอะไรทำที่เราจะสามารถจดจ่อและนึกถึงแต่สิ่งนั้นแทน เพื่อให้สมองหยุดค้นหาเรื่องที่เราอยากให้ลืม เพราะถ้าเอาแต่นึกถึงมันซ้ำ ๆ สมองก็จะไม่ลืมมันสักที
แชร์ให้คนอื่นรับรู้
การเล่าให้คนอื่นรับรู้มีหลายเลเวล ใครสะดวกเล่าให้แค่คนที่ไว้ใจหรือคนในครอบครัวก็ได้ สะดวกเล่าให้ผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ก็ได้ หรือถ้าอยากจะแชร์ให้เพื่อน ๆ บนโลกโซเชียลรับรู้ก็ได้ พอยท์สำคัญคือการเล่าให้คนอื่นฟัง มันเหมือนเป็นการนำเรื่องเลวร้ายออกไปจากสมองของเรา อย่าเก็บมันไว้คนเดียวเพราะการบอกเล่ามันจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้น
อย่าใช้อารมณ์หรืออินกับมันมาก
ถ้าอยากลบความทรงจำต้องเริ่มด้วยการกำจัดอารมณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์ที่ผูกอยู่กับความทรงจำนั้น เราต้องรู้ตัวเวลาที่นึกถึงมันเสมอ อย่าผูกใจเจ็บจนคลายอารมณ์ไม่ได้ เพราะยิ่งอินมากความทรงจำก็จะยิ่งอยู่นาน
ให้อภัย คือวิธีที่จะลืมมันไปได้
ถ้าคิดว่าให้อภัยไม่ได้ เราก็จะไม่มีทางลืมและจะเป็นทุกข์อยู่คนเดียว ลองคลายปมความรู้สึกของตัวเอง แล้วเปิดใจที่จะให้อภัย มันอาจจะทำไม่ได้ในทันที แต่ถ้าเราเปิดใจว่าจะให้อภัยแล้ว สุดท้ายมันจะนำไปสู่การลบล้างความทรงจำที่ไม่อยากจำได้ เทคนิคคือลองคิดว่าเราให้อภัยซ้ำ ๆ สัก 77 ครั้ง (เหมือนเวลาสวดมนต์ 77 จบ) ใจเราก็จะค่อย ๆ ให้อภัยไปเอง
ใช้ความรู้สึกและประสบการณ์เชื่อมโยง
เช่น ปลูกฝังเรื่องใหม่ ๆ ให้กับสมอง อาจจะเป็นความทรงจำในอดีตที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อน แต่ขอเป็นความทรงจำในแง่บวก ที่นึกถึงแล้วดีต่ออารมณ์และความรู้สึก
บิดเบือนความทรงจำเพื่อให้สมองรับรู้ในแง่บวก
พลิกมุมมองหรือทัศนคติของเรา เช่น ทำเงินหายตั้ง 200 เซ็งมาก แต่ก็โชคดีที่กระเป๋าตังค์ไม่หาย ไม่งั้นต้องไปทำบัตรใหม่หมดเลย หรืออกหัก ใจช้ำเพราะโดนเธอทิ้ง แต่มันทำให้หัวใจเราเข้มแข็งขึ้นมาก และมีเวลาดูแลตัวเองมากขึ้น
ปลูกฝังความทรงจำเทียม
ด้วยการนึกภาพหรือเรื่องราวใหม่ซ้ำ ๆ วันละหลายรอบ ทำติดต่อกันนาน 3 สัปดาห์ (ระยะเวลาเหมาะสมที่สมองใช้รับความรู้ใหม่)
แหล่งข้อมูล
Eran Katz. (2557). ปัญญาทั้ง 5 เพิ่มพลังความคิด. แปลจาก 5 Gifts for the Mind. แปลโดยอรุโณทัย. กรุงเทพฯ: Inspire สำนักพิมพ์ในเครือนานมีบุ๊คส์