คำว่า ‘อิคิไก’ มาจากคำศัพท์ที่เรียบง่าย 2 คำ นั่นคือคำว่า อิคิ (IKI) กับ ไก (GAI) อิคิ หมายถึง ชีวิต ส่วนคำว่า ไก หมายถึง คุณค่า เหตุผล รางวัล เมื่อคำสองคำนี้มารวมกัน IKIGAI จึงหมายถึง
“ความหมายของการมีชีวิตอยู่”
หรือจะพูดให้โรแมนติกและเข้าใจง่ายขึ้นไปอีกก็คือ
“เหตุผลที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาในทุกเช้า”
เหตุผลที่ทำให้เราอยากตื่นขึ้นมาในทุกเช้าจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น รุ่นพี่ที่เราแอบชอบ เป็นโอปป้าที่เราติ่ง แมวหน้าโรงเรียน วิชาที่เราชอบ อาหารที่เราชอบกิน ครอบครัว ฯลฯ สิ่งไหนที่ทำให้เราอยากตื่นมาทุกเช้า สิ่งนั้นคืออิคิไกของเรา แต่สิ่งที่เป็นอิคิไกของเราในวันนี้ พรุ่งนี้ก็อาจจะไม่ใช่แล้ว เพราะอิคิไกเปลี่ยนแปลงได้ตามประสบการณ์ชีวิต
อยากให้มีทฤษฎีเอาไว้แก้ไขปัญหาสำหรับคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ซึ่ง ‘อิคิไก’ ก็เข้ามาตอบโจทย์ความไม่รู้นี้ว่าเราควรจะไปทางไหนดีเมื่อยังไม่ชัวร์ว่าตัวเองชอบอะไร ผ่านคำถามสำคัญ 4 คำถามคือ สิ่งที่เรารัก สิ่งที่เราถนัด สิ่งที่โลกนี้ต้องการ และสิ่งที่ทำแล้วได้เงิน โดยเราอาจจะพบสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยากทำ อยู่ในข้อใดข้อหนึ่งจากทั้งหมด 4 ข้อ
• สิ่งที่รัก เติมเต็มชีวิตและแพชชั่น แต่ทำแล้วอาจจะไม่ได้ทำให้ร่ำรวยมากมายนัก
• สิ่งที่ถนัด ตรงกับความสามารถ ทำแล้วอิ่มเอมใจ แต่อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้มีประโยชน์ต่อโลกหรือคนอื่นเลย
• สิ่งที่ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อคนอื่น หรือสิ่งที่โลกกำลังต้องการ แต่ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่รักและเผลอ ๆ อาจจะไม่มั่นคงในระยะยาว
• สิ่งที่ทำแล้วไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องเงิน มีความสะดวกสบาย ไม่ต้องดิ้นรน แต่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่รัก เผลอ ๆ อาจทำให้ชีวิตจืดชืด ไร้ชีวิตชีวา
น้อง ๆ อาจจะเจออิคิไกของตัวเองจาก 4 ข้อข้างบน ไม่มีใครบอกได้ว่า ‘อิคิไก’ ของเราอยู่ที่ข้อไหนเพราะอิคิไกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราอาจจะพบสิ่งที่เราอยากทำในข้อนึง งานอดิเรกที่เหมาะกับเราอยู่อีกข้อนึง อาชีพที่อยากทำอยู่อีกข้อนึง เพราะชีวิตจริงไม่เป็นไปตามทฤษฎี เช่น บางคนอาจจะค้นพบว่าตัวเองอยากเรียนศิลปะเพราะเป็นสิ่งที่รัก แต่พ่อแม่อาจจะอยากให้เรียนพยาบาลเพราะเห็นว่ามั่นคง บางครั้งเราก็ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะทำอะไรตามใจตัวเอง ชีวิตจริงมีองค์ประกอบอื่น ๆ เยอะมาก การเงินและปากท้องก็เป็นเรื่องสำคัญ บางคนต้องเลี้ยงดูครอบครัวต่อไป แม้จะไม่ชอบ ไม่อยากทำ แต่ก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด
เด็กคนหนึ่งถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าโตขึ้นต้องเลี้ยงดูครอบครัว แม้เขาจะอยากเรียนศิลปะแค่ไหนก็ต้องเข้าคณะแพทย์ เพราะรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัวได้ ทั้งที่การเป็นหมอไม่ใช่อิคิไกของเขา แต่การเป็นหมอที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น ถือเป็นอาชีพที่ต้องการของสังคมโลก จึงทำให้เด็กคนนั้นอยากตื่นขึ้นมาในทุก ๆ เช้า เป็นต้น