Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ที่สุดของระบบกล้ามเนื้อ

Posted By sanomaru | 04 มิ.ย. 63
41,183 Views

  Favorite

ร่างกายของมนุษย์เราประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อมากกว่า 600 มัด ซึ่งทำงานกันอย่างเป็นระบบ ระบบกล้ามเนื้อช่วยให้เราทำกิจกรรมต่าง ๆ สามารถเคลื่อนไหวและเคลื่อนที่ได้ ตั้งแต่การเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อยอย่างการยิ้ม ไปจนถึงการวิ่งหรือกระโดด

 

กล้ามเนื้อในร่างกายของมนุษย์แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. กล้ามเนื้อเรียบที่ทำงานอยู่ภายนอกอำนาจจิตใจ เช่น กล้ามเนื้อในลำไส้ กล้ามเนื้อหลอดเลือด 2. กล้ามเนื้อลาย เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานภายใต้อำนาจจิตใจ เช่น กล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา และ 3. กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งในสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ เมื่อรวม ๆ แล้วมีกล้ามเนื้อคิดเป็น 40% ของน้ำหนักตัวเลยทีเดียว

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อแต่ละมัดมีความโดดเด่นและมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป เช่น กล้ามเนื้อไบเซป (Biceps) บริเวณแขนท่อนบน ทำหน้าที่ช่วยในการยกของหนัก ๆ หรือกล้ามเนื้อบนใบหน้าที่ช่วยให้เราสามารถแสดงสีหน้าต่าง ๆ ออกมาได้หลากหลาย ขณะที่กล้ามเนื้อบางมัดก็มีความโดดเด่นในบางเรื่องมากกว่ากล้ามเนื้ออื่น ๆ เราจะไปทำความรู้จักกับกล้ามเนื้อเหล่านั้นกัน

 

กล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุด

กล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในร่างกายของมนุษย์ เรียกว่า กลูเตียส แม็กซิมัส (Gluteus Maximus) หรือกล้ามเนื้อซึ่งอยู่บริเวณก้นนั่นเอง กล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดนี้ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกและต้นขา ช่วยให้แผ่นหลังตรง และยังทำงานต้านแรงโน้มถ่วงยามที่เราเดินขึ้นบันไดด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อที่มีขนาดเล็กที่สุด

กล้ามเนื้อที่มีขนาดเล็กที่สุดในร่างกายของมนุษย์เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่ในหู เรียกว่า สเตพีเดียส (Stapedius) โดยมีขนาดไม่ถึง 2 มิลลิเมตร ช่วยในการทำงานของกระดูกโกลน (Stapes) ซึ่งเป็นกระดูกชิ้นที่เล็กที่สุด อยู่ในหูชั้นกลาง เพื่อส่งสัญญาณการสั่นสะเทือนต่อไปยังหูชั้นใน

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อที่แข็งแรงที่สุด

จริง ๆ แล้วเป็นการยากที่จะบอกว่ากล้ามเนื้อไหนเป็นกล้ามเนื้อที่แข็งแรงที่สุด เพราะมันขึ้นกับนิยามของคำว่าแข็งแรง แต่หากพิจารณาที่แรงบีบกดหรือแรงกดต่อหน่วยพื้นที่แล้วละก็ กล้ามเนื้อที่ดูจะแข็งแรงที่สุดคงเป็นกล้ามเนื้อขากรรไกรหรือที่เรียกว่า แมสซีเตอร์  (Masseter) เพราะมันสามารถออกแรงกดได้ถึง 200 ปอนด์ หรือ 890 นิวตัน แน่นอนว่าแรงกดของมันเห็นได้ชัดจากการที่เราสามารถเคี้ยวอาหารแข็ง ๆ บางประเภท หรือแม้แต่การแสดงกายกรรมที่ใช้ปากและฟันในการยึดสิ่งของหนัก ๆ แล้วยกขึ้นมา

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อที่ยาวที่สุด

กล้ามเนื้อที่ยาวที่สุดอยู่บริเวณขา มีชื่อว่า ซาร์ทอเรียส (Sartorius) โดยมีจุดเกาะต้นอยู่ที่ด้านนอกของกระดูกสะโพกแล้วพาดผ่านต้นขามายังที่จุดเกาะปลายบริเวณด้านในของกระดูกหัวเข่า มีความยาว 23 นิ้วหรือประมาณ 60 เซนติเมตร ทำงานเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของข้อสะโพกและเข่า

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อที่ทำงานยุ่งที่สุด

กล้ามเนื้อที่ทำงานยุ่งที่สุดเป็นกลุ่มของกล้ามเนื้อตา ซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 6 มัด ได้แก่ superior rectus, inferior rectus, superior oblique, inferior oblique, lateral rectus, and medial rectus หรือเรียกรวมกันว่า extraocular muscles ที่บอกว่ากล้ามเนื้อกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำงานยุ่งที่สุดเพราะในขณะที่อ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์ กล้ามเนื้อตาอาจจะต้องมีการทำงานที่ประสานกันมากถึง 10,000 การเคลื่อนไหว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เราสามารถมองเห็นภาพที่ชัดเจนได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อที่ทำงานหนักที่สุด

ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ใน 1 วัน หรือตลอด 7 วัน ใน 1 สัปดาห์ อวัยวะที่ไม่เคยหยุดทำงานเลยก็คือ หัวใจ ดังนั้น กล้ามเนื้อหัวใจจึงดูเหมือนจะป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานหนักที่สุด แต่นอกจากไม่ได้พักแล้ว สิ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อส่วนนี้ถูกยกให้เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานหนักที่สุด ก็เพราะมันต้องหดตัวและสูบฉีดเลือดอย่างน้อย 9,450 ลิตรในแต่ละวัน เพื่อส่งเลือดจากหัวใจไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และยังต้องเต้นมากกว่า 3 พันล้านครั้งตลอดอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์ด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อที่บาดเจ็บบ่อยที่สุด

การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อมักเกิดขึ้นในกลุ่มของนักกีฬา ซึ่งในกลุ่มนักวิ่งมักจะประสบกับปัญหาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อแฮมสตริง (Hamstrings) ที่อยู่บริเวณต้นขาด้านหลัง โดยปกติกล้ามเนื้อนี้จะทำงานร่วมกับกล้ามเนื้อควอดไดรเซ็ป (Quadriceps) ที่อยู่บริเวณต้นขาด้านหน้า ช่วยในการงอและเหยียดเข่า ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า หากกล้ามเนื้อแฮมสตริงนี้เกิดการบาดเจ็บจะมีผลต่อนักวิ่งถึง 7% ด้วยกัน

ภาพ : Shutterstock

 

กล้ามเนื้อของเราช่วยให้เราทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การดูแลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อส่วนไหน ก็ล้วนต้องการการดูแล โดยเฉพาะการออกกำลังกายหรือฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ซึ่งไม่เพียงแต่กล้ามเนื้อที่ช่วยในการเดินเท่านั้น แม้แต่กล้ามเนื้อกะบังลมที่ใช้ในการหายใจก็ยังต้องมีวิธีฝึกกล้ามเนื้อให้แข็งแรงเช่นกัน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

- ระบบกล้ามเนื้อ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow