สัตว์ทั้งหลายต้องหาอาหาร และสัตว์บางชนิด เช่น ค้างคาว โลมา วาฬ ก็ใช้เสียงในการนำทางเพื่อที่จะล่าหาอาหาร หรือเคลื่อนตัวไปยังทิศทางต่าง ๆ เมื่อเสียงของพวกมันกระทบกับวัตถุ คลื่นเสียงนั้นจะสะท้อนกลับมายังตัวมันและสามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคือสิ่งใด
ค้างคาวสามารถบินออกล่าเหยื่อได้อย่างคล่องแคล่ว สามารถหากินได้ในที่มืด ไม่ใช่เพราะสายตาดี แต่ค้างคาวมีระบบส่งเสียงและรับเสียงที่สะท้อนกลับมาได้ เรียกว่า ระบบเสียงสะท้อนหรือเอโคโลเคชั่น (Echolocation) ซึ่งเป็นการหาตำแหน่งของวัตถุต่าง ๆ ด้วยการใช้เสียงสะท้อน ทำให้รู้ว่ามีสิ่งใดอยู่ตรงหน้า โดยค้างคาวจะปล่อยคลื่นเสียงที่มีความถี่สูงมากเกินกว่ามนุษย์จะได้ยินออกมา คลื่นเสียงนี้มีชื่อว่า คลื่นเสียงอัลตราโซนิก ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่มีความถี่ประมาณ 30,000 – 70,000 เฮิร์ต
เมื่อค้างคาวปล่อยคลื่นอัลตราโซนิกออกมา คลื่นจะไปกระทบกับวัตถุที่อยู่ตรงหน้า แล้วสะท้อนกลับมายังหูของค้างคาว ทำให้ค้างคาวรู้ตำแหน่งของวัตถุต่าง ๆ แม้จะอยู่ในความมืด คลื่นเสียงนี้จึงมีประโยชน์ต่อการล่าเหยื่อและการนำทางในเวลากลางคืนอย่างมาก
ค้างคาวแบ่งได้ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ค้างคาวกินแมลงและค้างคาวกินผลไม้ ซึ่งค้างคาวที่ต้องล่าเหยื่อในเวลากลางคืนนั้น คือค้างคาวกินแมลง ซึ่งค้างคาวเหล่านี้จะใช้การสะท้อนกลับของเสียง (Echolocation) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการล่าสัตว์