ทะเลสาบสีชมพูหรือทะเลสาบฮิลเลียร์ (Hiller lake) เป็นทะเลสาบน้ำเค็ม ตั้งอยู่บนเกาะแห่งหนึ่งทางด้านตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย เหตุผลที่ทะเลสาบแห่งนี้มีสีชมพูโดดเด่นต่างจากทะเลสาบอื่น เนื่องจากมีสาหร่ายชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Dunaliella salina ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีความเค็ม พวกมันสามารถทนต่อความเข้มข้นของเกลือได้สูงมากถึง 0.2-35% โดยสาหร่ายเหล่านี้จะดูดซับแสงอาทิตย์และทำการสังเคราะห์แสงเพื่อให้พวกมันสามารถเจริญเติบโตได้ และผลจากการสังเคราะห์แสง ทำให้เกิดสารสีแดง เรียกว่า แคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ซึ่งเป็นเหตุให้ทะเลสาบฮิลเลียร์แห่งนี้มีสีชมพู
นอกจากสาหร่าย Dunaliella salina ยังมีแบคทีเรียที่ชื่อว่า Halobacteria ที่เป็นสาเหตุของทะเลสาบสีชมพูด้วย พวกมันสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่เกลือมีความเข้มข้นสูง และมีการผลิตเม็ดสีแคโรทีนอยด์ภายในเยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ทะเลสาบแห่งนี้มีสีชมพูเช่นกัน และยิ่งเมื่อมีแสงอาทิตย์มากเท่าใด ทะเลแห่งนี้ก็ยิ่งเป็นสีชมพูมากยิ่งขึ้นเท่านั้น
เนื่องจากในทะเลสาบสีชมพูมีความเข้มข้นของเกลือที่สูงมาก ทำให้น้ำมีความหนาแน่นมาก ดังนั้น หากเราต้องการที่จะเล่นน้ำในทะเลสาบสีชมพู เราจะปลอดภัยและไม่จมน้ำ เพราะร่างกายของเรามีความหนาแน่นน้อยกว่าความหนาแน่นของทะเลสาบ เช่นเดียวกับทะเลสาบเดดซี (Dead sea) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีความเค็มที่สุดในโลก
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ความหนาแน่น (Density) คืออะไร