การเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้งมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายแตกต่างกันออกไป ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถป้องกันการเกิดขึ้นนี้ได้เลย แผ่นดินไหวแต่ละครั้งคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยนัก และอาจจะไม่ได้รุนแรงเทียบเท่ากับในบางประเทศ แต่เราก็ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อเตรียมรับมือกับอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากธรรมชาตินี้ได้อย่างเหมาะสม
แผ่นดินไหวจัดเป็น ธรณีพิบัติประเภทหนึ่ง เกิดจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก เนื่องจากแผ่นเปลือกโลกของเรานั้นลอยอยู่บนแมกมาซึ่งเป็นของเหลวหนืดใต้แผ่นเปลือกโลกที่มีการไหลวนอยู่ตลอดเวลา และการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกที่เกิดขึ้นนี้อาจพาให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่มาชนกัน ซ้อนกัน หรือแม้กระทั่งเคลื่อนออกจากกันก็ได้ โดยแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนที่มาซ้อนกันทำให้เกิดเทือกเขาสูง เช่น เทือกเขาหิมาลัย ส่วนแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนแยกออกจากกันจะเกิดเป็นรอยแยกและมีลาวาปะทุขึ้นมา เกิดเป็นปล่องภูเขาไฟ
ถึงแม้ว่าจะเป็นการเคลื่อนที่ทีละน้อยแต่พลังงานที่สะสมอยู่ในรูปพลังงานศักย์ในแผ่นเปลือกโลกก็ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และมีแรงสั่นสะเทือน เขย่าจนทำให้บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย ตลอดจนชีวิตตกอยู่ในอันตรายได้ ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกาะสุลาเวสี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปกว่าสองพันคน และผู้คนมากมายต้องอพยพที่อยู่ออกจากเขตภัยพิบัติ
สำหรับอันตรายที่มักจะตามมาจากการเกิดแผ่นดินไหวนั่นคือ การเกิดอาฟเตอร์ช็อก ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการเกิดแผ่นดินไหวอีกระลอก การประทุของภูเขาไฟ รวมไปถึงการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนมากมาย
ในปัจจุบันถึงแม้จะมีเครื่องมือตรวจจับสัญญาณการเกิดแผ่นดินไหว แต่ก็ยังไม่สามารถพยากรณ์การเกิดขึ้นล่วงหน้าอย่างแม่นยำได้ว่าจะเกิดที่ตำแหน่งใด หรือมีความรุนแรงเท่าไร
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งข้อมูลที่มีอยู่ก็สามารถช่วยให้คาดคะเนล่วงหน้าได้ เช่น บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย ๆ มักจะเป็นบริเวณที่มีการเคลื่อนของแผ่นเปลือกโลกอยู่บ่อยครั้ง อย่างบริเวณที่มีชื่อเรียกว่า วงแหวนแห่งไฟ นั่นคือ รอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่หลายลูก นอกจากนั้นบริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลกก็มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้บ่อยครั้งเช่นกัน อย่างในบริเวณร่องของมหาสมุทรต่าง ๆ เป็นต้น
การพยากรณ์อีกอย่างหนึ่ง คือ สามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมของสัตว์บางชนิด ก่อนการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งบางครั้งมีอาการตื่นตกใจ แสดงออกมาให้เห็นล่วงหน้าประมาณ 1 วัน เช่น การอพยพของสัตว์ที่อยู่ใต้ดิน พวกแมลง หรือ สัตว์เลื้อยคลานทั้งที่เป็นฤดูจำศีล การตื่นตกใจของสัตว์เลี้ยงต่าง ๆ ปลากระโดดขึ้นจากน้ำ เป็นต้น