Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเกิดเล็บขบ

Posted By Guide NT | 29 พ.ค. 63
22,309 Views

  Favorite

ใครที่เคยเป็นเล็บขบ คงจะรู้สึกเจ็บแปลบ ๆ ที่นิ้วเมื่อได้เย็นคำว่าเล็บขบ บางคนที่ยังไม่เคยเป็นเล็บขบ อาจจะเคยเห็นคลิปวิดีโอตามอินเทอร์เน็ตว่า การรักษาเล็บขบ ไม่ว่าจะเป็นการถอดเล็บหรือการตัดเล็บส่วนเกินออกนั้น จะต้องเจ็บปวดขนาดไหน และเพื่อไม่ให้เกิดเล็บขบขึ้นกับนิ้วของเรา เราควรทราบถึงสาเหตุของการเกิดเล็บขบและป้องกันแต่เนิ่น ๆ

 

เล็บขบ หรือ Ingrown Toenail ถ้าแปลตรงตัวก็คือ อาการที่เล็บเท้าโตขึ้นภายในนิ้วเท้า ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นที่นิ้วหัวแม่เท้า เป็นอาการที่เล็บทิ่มหรืองอกเข้าไปในเนื้อเท้าข้างเล็บ ทำให้เกิดความเจ็บปวด บวมแดง หากทิ้งไว้นานอาจจะทำให้เกิดหนองหรือติดเชื้อได้ นอกจากนี้จะทำให้รู้สึกไม่สบายเวลาใส่รองเท้า หรือมีแรงมากระทำต่อบริเวณนิ้วเท้าที่เป็นเล็บขบ แต่คนส่วนน้อยก็อาจจะเป็นเล็บขบที่นิ้วมือได้เช่นกัน

ภาพ : Shutterstock

 

ส่วนสาเหตุของการเกิดเล็บขบนั้น นอกจากจะเกี่ยวข้องกับลักษณะของนิ้วและเล็บ อันเนื่องจากความบกพร่องทางพันธุกรรมและการไม่ดูแลสุขอนามัยของนิ้วแล้ว ยังมาจากปัจจัยอื่น ๆ ได้อีกด้วย เช่น การใส่ถุงเท้า สวมรองเท้าส้นสูงปลายแหลมจนเกินไป หรือสวมรองเท้าที่แน่นจนกดทับบริเวณนิ้วเท้ามากเกินไป น้ำหนักตัวที่มาก ทำให้มีแรงกดทับที่นิ้วเท้า การตัดเล็บที่ผิดวิธี คือ ตัดเล็บลึกเข้าเนื้อมากจนเกินไป หรือตัดเล็บมุมเล็บชิดกับเนื้อจนเล็บที่ยาวออกมาใหม่ทิ่มเข้าไปในเนื้อข้างเล็บ

 

อาการของเล็บขบอาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 มีอาการบวมแดงเล็กน้อยที่ซอกเล็บ กดจับแล้วรู้สึกเจ็บนิด ๆ ระยะที่ 2 นิ้วที่เป็นเล็บขบจะบวมแดงมากยิ่งขึ้น จับแล้วรู้สึกเจ็บ หากติดเชื้ออาจมีหนอง และระยะที่ 3 นิ้วบวมแดงมากขึ้น จนมีเนื้อเยื่องอกออกมา หรือมีหนองไหล เล็บบริเวณนั้นจะหนามากขึ้น หากมีแรงอะไรมากระทบจะเจ็บปวดมาก

ภาพ : Shutterstock

การรักษาเล็บขบอาจทำได้หลายวิธี บางคนอาจจะเข้าร้านทำเล็บที่น่าเชื่อถือ ให้ช่วยตัดเล็บส่วนที่ทิ่มแทงเนื้อออกไป หากร้านทำเล็บตัดไม่ถูกวิธีหรือตัดเล็บขบออกไม่หมด อาจทำให้กลับมาเป็นเล็บขบเหมือนเดิมได้ แต่ถ้าหากเล็บขบมีอาการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี หรือไปพบแพทย์ตั้งแต่แรกเพื่อขอคำแนะนำและวิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง แต่โดยวิธีหลัก ๆ ในการรักษาของแพทย์จะมี 3 วิธี ได้แก่
1. การเอาเล็บออกทั้งหมด (Total Nail Avulsion) กรณีที่เล็บหนาและกดลึกลงไปในผิวหนัง
2. การเอาเล็บออกแค่บางส่วน (Partial Nail Avulsion)
3. การยกเล็บขึ้น (Lifting the Nail) กรณีที่บวมแดงแค่เล็กน้อย ไม่มีหนอง และเล็บทิ่มผิวหนังไม่ลึกมาก

ภาพ : Shutterstock

 

สำหรับใครที่ไม่อยากเป็นเล็บขบ ต้องพยายามดูแลรักษาสุขอนามัยของนิ้วเท้าตัวเองเป็นประจำ อย่าตัดเล็บผิดวิธี ให้ตัดเล็บส่วนเกินที่ออกมาเท่านั้น ไม่ต้องพยายามตัดลึกลงไป เพื่อป้องกันเล็บทิ่มหรืองอกเข้าไปในเนื้อข้างเล็บได้ แต่ถ้าใครมีความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งอาจทำให้เป็นเล็บขบบ่อย ๆ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาหรือการผ่าตัดร่วมด้วย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Guide NT
  • 2 Followers
  • Follow