จริง ๆ แล้ว นิสัยขี้อายของเด็ก ๆ ถือเป็นภาวะปกติตามพัฒนาการ เมื่อต้องเผชิญกับสถานที่แปลกใหม่ หรืออยู่กับคนที่ไม่คุ้นเคย แต่หากลูกมีอาการดังกล่าวตลอดเวลา ไม่กล้าแสดงออก และกลัวการเข้าสังคมถึงแม้จะใช้เวลาอยู่ในสังคมนั้น ๆ ไปแล้วระยะหนึ่งก็ตาม ลูกอาจมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม วันนี้เราจะมาดูกันว่า การที่ลูกไม่กล้าเข้าสังคม หรือไม่กล้าแสดงออก ส่งผลเสียต่อพัฒนาการของลูกในด้านใดบ้าง
เมื่อถึงช่วงอายุหนึ่ง “เพื่อน” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่รอบด้านมากขึ้น ดังนั้นการพาลูกไปเข้าสังคม ทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญา ซึ่งหากลูกมีปัญหาไม่กล้าแสดงออก ไม่ยอมพูดคุยกับเพื่อน ๆ ไม่ยอมเล่นกับเพื่อน ๆ ก็คงจะทำให้เพื่อน ๆ เกิดความรู้สึกไม่ดี เพื่อนไม่เล่นด้วย และไม่ได้รับการยอมรับให้เข้ากลุ่มนั้น ๆ โดยเด็กที่มีพฤติกรรมเช่นนี้มักหลบเลี่ยงการพูดคุยกับผู้อื่น พูดเสียงเบา พูดพึมพำในลำคอ ไม่สบตา ชอบแยกตัวไปอยู่ในมุมต่าง ๆ เช่น หลังห้อง ห้องสมุด เป็นต้น
เมื่อถึงวัยที่ต้องไปโรงเรียน สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่จะต้องเตรียมความพร้อมให้กับลูกนั่นก็คือ การฝึกให้ลูกกล้าแสดงออก กล้าพูดสื่อสาร เพื่อแสดงความต้องการของตนเอง และกล้าที่จะพูดคุยกับผู้อื่น มีความกล้าที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อน ๆ เด็กที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่ยอมพูดคุย หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น ก็จะไม่ได้รับการยอมรับเข้ากลุ่มเพื่อน ทำให้รู้สึกกดดัน และยิ่งพยายามแยกตัวเองออกจากกลุ่มเพื่อน ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนอีกต่อไป ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง
หากพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กที่โดดเด่น และมีความเป็นผู้นำ ทักษะสำคัญที่จะต้องส่งเสริมให้ลูกมีก็คือ การกล้าแสดงออก เพราะเด็กที่มีความเป็นผู้นำจะเป็นเด็กที่กล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำ ในทางกลับกันหากเด็กคนนั้นคิดได้เหมือนกันแต่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองให้คนอื่นได้รับรู้ ก็จะต้องคอยเป็นแต่ผู้ตามที่ดี ที่คอยพยักหน้ารับฟังและทำตามความคิดของคนอื่นเท่านั้น