คือ 1. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน (นานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 3. หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต (นานาชาติ) คณะสาธารณสุขศาสตร์ 4. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชากายภาพบำบัด (นานาชาติ) คณะกายภาพบำบัด
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมภพ ประธานธุรารักษ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างกระบวนการในการรับฟังเสียงจากลูกค้าทั้งจากนักศึกษา ผู้ใช้บัณฑิต ผู้ใช้ผลงานวิจัย แหล่งทุนวิจัย รวมทั้งผู้ใช้บริการวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ
เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาคุณภาพที่ตอบโจทย์ประเทศชาติและสังคม เกิดเป็นผลสำเร็จตามเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับในผลผลิต ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของคุณภาพบัณฑิต ผลงานวิจัย หรือนวัตกรรม พร้อมเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นปัญญาของแผ่นดิน ซึ่งในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพตามเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและระดับสากล อาทิ รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA), AUN-QA, WFME, AACSB, MusiQuE, TedQual อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการรับรองจาก ASEAN University Network Quality Assurance: AUN-QA ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในการประกันคุณภาพการศึกษาและสร้างมาตรฐานระดับหลักสูตรสำหรับมหาวิทยาลัยสมาชิกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทั่วทั้งภูมิภาคและสอดคล้องกับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งการย้ายโอนนักศึกษาหรือการเทียบเคียงหน่วยกิต ซึ่งถือเป็นการสร้างมาตรฐานร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักสูตรอุดมศึกษาในภูมิภาค การรับรองมาตรฐาน AUN-QA จะอยู่ได้ 5 ปี เพื่อให้มหาวิทยาลัยได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ให้ทันสมัยตามเกณฑ์มาตรฐาน
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดล มีหลักสูตรที่ได้รับการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติทั้งหมด 31 หลักสูตร ในจำนวนนี้ 15 หลักสูตรได้รับการรับรองตามเกณฑ์ AUN-QA และอยู่ระหว่างรอผลและเตรียมรับการตรวจประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานอีกหลายหลักสูตร อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงนำผลการประเมินของเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ มาใช้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อคุณภาพที่ยั่งยืน สู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกต่อไป