การกินกล้วยช่วยพัฒนาการวิ่งได้ การวิ่งแต่ละครั้งต้องใช้พลังงานที่สะสมในร่างกาย สารอาหารที่จำเป็นที่นักวิ่งควรได้รับ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต วิตามินบี 6 โพแทสเซียม แมกนีเซียม เพื่อทดแทนการเสียเหงื่อและทดแทนพลังงานที่เสียไป และกล้วยก็เป็นผลไม้ที่มีสารอาหารครบถ้วนมากที่สุด เหมาะแก่นักวิ่งเมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่น ๆ
สารอาหารในกล้วยที่ช่วยในการวิ่ง
นักกีฬาโดยเฉพาะนักวิ่งที่ต้องใช้พลังงานอย่างมาก เสี่ยงต่อการขาดธาตุโพแทสเซียม การขาดธาตุโพแทสเซียมอาจทำให้เกิดตะคริวระหว่างการแข่งได้ และทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติในขณะวิ่ง ธาตุโพแทสเซียมมีส่วนควบคุมสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย ในขณะวิ่งนั้นธาตุโพแทสเซียมจะถูกปล่อยออกมาจากกล้ามเนื้อและขับออกมาในรูปแบบของเหงื่อ เมื่อเหงื่อถูกขับออกมา ร่างกายจึงต้องการโพแทสเซียมเข้าไปแทนที่ การกินกล้วยจึงสามารถช่วยทดแทนโพแทสเซียมที่เสียไปได้
โดยกล้วยขนาด 7 นิ้ว มีโพแทสเซียมประมาณ 422 มิลลิกรัมหรือประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่จำเป็นต่อวัน
กล้วยอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 ช่วยในเรื่องของการเผาผลาญในร่างกาย ทั้งยังช่วยสังเคราะห์ฮีโมโกลบินและเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเลือด นอกจากนั้นวิตามินบี 6 ยังช่วยลำเลียงก๊าซออกซิเจนไปยังเซลล์ต่าง ๆ สำหรับนักวิ่งนั้น วิตามินบี 6 จะช่วยรักษาระดับพลังงานในร่างกายขณะวิ่ง และช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายด้วย หากร่างกายขาดวิตามินบี 6 จะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปัญหาในเรื่องของผิวหนัง ปัญหาทางระบบประสาท และภาวะซึมเศร้า
ในร่างกายของเรานั้นมีธาตุแมกนีเซียมมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของปริมาณแร่ธาตุทั้งหมด แมกนีเซียมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อนักวิ่ง เนื่องจากแมกนีเซียมช่วยในเรื่องของกระดูก และในกล้วยก็มีแมกนีเซียมเป็นจำนวนมาก ซึ่งช่วยให้กระดูกแข็งแรง ไม่เปราะง่าย นอกจากนั้นแมกนีเซียมยังช่วยในการทำงานของระบบกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีนและการเผาผลาญพลังงานในร่างกายอีกด้วย
ร่างกายของมนุษย์สะสมคาร์โบไฮเดรตซึ่งเป็นแหล่งพลังงานในรูปของไกลโคเจน และในขณะที่เราใช้พลังงานในการวิ่ง ไกลโคเจนที่สะสมอยู่ในกล้ามเนื้อจะลดลง หากไกลโคเจนถูกใช้จนหมด ร่างกายจะเริ่มใช้พลังงานสำรอง โดยดึงเอาไขมันมาใช้ ดังนั้น การกินกล้วยก่อนออกกำลังกายหรือหลังออกกำลังกาย จะช่วยให้มีพลังงานสะสมในร่างกาย โดยในกล้วย 1 ลูกนั้นให้พลังงานประมาณ 105 แคลอรี และมีคาร์โบไฮเดรตอยู่ในกล้วยประมาณ 27 กรัม
คาร์โบไฮเดรตที่อยู่ในกล้วยประกอบด้วยน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งน้ำตาลจะถูกใช้นำไปเป็นพลังงานเป็นอันดับแรก ส่วนคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะมีกระบวนการนำไปใช้ช้ากว่า เนื่องจากการย่อยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนเกิดขึ้นที่ลำไส้เล็ก ดังนั้น การกินกล้วยจึงช่วยให้ร่างกายมีพลังงานและสามารถนำพลังงานไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว