ฮอร์โมนแห่งความรัก หรือฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเมื่อเรามีความรัก ฮอร์โมนออกซิโทซินจะหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมองไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) จะสังเกตได้ว่า ในช่วงเวลาที่เราตกหลุมรักใครหรือช่วงคบกับแฟนในช่วงแรก เราจะรู้สึกหลงใหลในตัวคนที่เรารักอย่างมาก เนื่องจากฮอร์โมนออกซิโทซินมีการหลั่งเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคู่รักมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การสัมผัส การกอด การหอมแก้ม การจูบ หรือการมีเซ็กซ์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงรักคนคนนี้มากยิ่งขึ้น
นักวิจัยได้ทำการวิจัยถึงความเกี่ยวข้องระหว่างฮอร์โมนออกซิโทซินกับความรัก หลังจากการวิจัยพบว่าคู่รักที่เพิ่งคบกันในช่วงแรก หรือที่เราเรียกว่า “ช่วงโปรโมชัน” ในช่วงนี้จะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซินในปริมาณมาก เมื่อเทียบกับคู่รักที่คบกันมานานมากแล้ว นอกจากนั้นออกซิโทซินยังเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความผูกพัน ความรักใคร่ เกิดความเชื่อใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
ไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์แบบคู่รักเท่านั้น ฮอร์โมนออกซิโทซินยังทำให้เกิดความผูกพันระหว่างแม่กับลูกด้วย ฮอร์โมนนี้ยังเกี่ยวข้องกับแม่ที่คลอดลูกและมีประโยชน์ต่อการให้นมลูก ในช่วงการคลอด ช่วยในเรื่องของการเคลื่อนไหวของมดลูก ทำให้มดลูกเกิดการหดตัวและขยายตัวได้ง่าย ทำให้ปากช่องคลอดขยายตัวพร้อมต่อการคลอด
นอกจากนั้นฮอร์โมนออกซิโทซินยังเกี่ยวข้องกับมนุษย์ผู้เป็นแม่ทั้งคนและสัตว์ โดยแม่จะมีความผูกพันกับลูกอย่างมาก ซึ่งแสดงออกผ่านพฤติกรรมอย่างการกอดลูก การพูดคุยกับลูก การทำกิจกรรมกับลูก เช่น การอาบน้ำให้ลูก เป็นต้น ในบางงานวิจัยกล่าวว่า การที่ลูกได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เป็นอย่างดีจะเป็นการกระตุ้นให้ฮอร์โมนออกซิโทซินในตัวของลูกมีการหลั่งมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกมีความรักต่อแม่มากยิ่งขึ้นด้วย ไม่ได้เฉพาะกับแม่แท้ ๆ เท่านั้น ฮอร์โมนออกซิโทซินยังส่งผลต่อแม่เลี้ยง หรือลูกเลี้ยงเช่นกัน
ฮอร์โมนออกซิโทซินเป็นฮอร์โมนที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดความรัก เมื่อฮอร์โมนนี้เกิดขึ้นจะทำให้ผู้ชายเกิดความจงรักภักดีต่อผู้หญิงที่ตนรัก สนใจผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่คนรักน้อยลง เนื่องจากไม่มีการหลั่งฮอร์โมนนี้เมื่อคุยกับบุคคลอื่น ดังนั้น เมื่อใช้เวลากับคนรักมากเท่าใด ฮอร์โมนออกซิโทซินก็จะยิ่งเพิ่มมากยิ่งขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
- วิทยาศาสตร์ในความรัก