ระยะทางจะเป็นสาเหตุทำให้คนสองคนเลิกกันหรือไม่ ขอแบ่งคนออกเป็นสองประเภท
• หากคุณเป็นคนประเภทคุยกันทุกวัน คาดหวังว่าเราสองจะต้องได้ไปกินข้าวด้วยกันอย่างน้อยวันละมื้อ มีหอมแก้มทุกเย็นเวลาไปส่งบ้านหรืออีกหลาย ๆ อย่างที่เคยทำด้วยกันเหมือนตอนอยู่มัธยม แบบนี้การอยู่คนละมหา’ลัยจะเป็นปัญหาที่อาจทำให้คุณและแฟนต้องเลิกกันภายในหนึ่งเดือนทันที ! เนื่องจากคุณเป็นคนที่ชอบอยู่ใกล้แฟน และเมื่อเขาอยู่ใกล้ไม่ได้เหมือนเดิม คุณก็จะคิดว่าเขาเปลี่ยนไปและไม่ตอบโจทย์คุณ สุดท้ายก็ต้องเลิกกันในที่สุด
• ถ้าคุณเป็นคนมองความรักอีกแบบว่ามันคือความสัมพันธ์ที่ไม่มีระยะห่างทางกาย ใกล้ไกลอะไรกันก็แค่ไปเรียนที่อื่น คุณไม่เจอเขาทุกวัน หรือไม่ต้องกินข้าวด้วยกันทุกมื้อก็ไม่เป็นไรเพราะตราบใดที่ยังรู้สึกว่าคุณและเขายังใกล้ชิดกันทางความรู้สึก แม้ว่าตัวจะอยู่ห่างกันคนละมหา’ลัย แต่ก็สัมผัสได้ว่าพวกคุณมีกันและกันเสมอ เจอกันน้อยลงแต่มันก็โอเคดี แถมชอบด้วยซ้ำที่จะได้ใช้ชีวิตห่างจากกันบ้าง โดยที่ไม่รู้สึกขาดอะไรไป หากคุณเป็นคนประเภทนี้ก็ยินดีด้วยนะ เพราะการอยู่คนละมหา’ลัยกับแฟนจะไม่ใช่สาเหตุของการเลิกกันแน่นอน ข้ามไปดูข้อต่อไปได้เลย
ถ้าตอนนี้สถานะของคุณคือ น้อง ม. 5 รักกับพี่ปี 1 ต้องระวังข้อนี้ไว้ให้ดี ๆ นะ เพราะต้องยอมรับความจริงกันหน่อยว่า มหา’ลัยเหมือนสังคมใหม่ที่ให้อิสระในระดับหนึ่ง ตามหลักจิตวิทยาแล้ว คนที่กำลังจะเข้ามหา’ลัยเกือบทุกคนจะแอบตั้ง Mindset ไว้ในหัวแล้วว่าเขาได้โตขึ้นอีกขั้น ดังนั้น เขาจะเริ่มกล้าทำสิ่งที่มันหลุดออกจากกรอบเดิม ๆ เริ่มมีวุฒิภาวะมากขึ้น และต้องการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง สรุปแล้วสังคมของเขากำลังจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เวลาของคุณกับเขาจะต่างกัน คุณสองคนจะเริ่มพูดกันคนละภาษา และหากเขายอมให้สังคมใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนตัวเอง และบังเอิญว่าเขาเองก็ชอบสังคมนั้น ความชอบของเขาก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าหากความชอบของเขาคือเรื่องอื่นก็ดีไป แต่ถ้าความชอบของเขามันหมายถึงคุณด้วย อันนี้ก็เศร้าเลย
การเข้ามหา’ลัยจะทำให้เราต้องรับผิดชอบกับชีวิตตัวเองมากขึ้น นั่นหมายความว่าคุณโตขึ้นแล้ว ซึ่งบางคนก็ถึงขั้นเริ่มตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ให้ชีวิต ลดละเลิกนิสัยที่ไม่ค่อยดี เช่น เลิกงอแง เลิกขี้วีนขี้เหวี่ยง เลิกตีป้อมถึงตีสามตีสี่ กลายเป็นคนคูล ๆ ซะงั้น การที่คนคนหนึ่งโตขึ้นมันก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกันนะ เพราะถ้าหากเขาโตขึ้นแค่คนเดียว แต่อีกคนไม่ได้โตขึ้นตาม บทสรุปมันจะเหมือนพวกคุณอยู่กันคนละโลก คุยกันไม่รู้เรื่อง เรื่องที่ไม่ควรจะทะเลาะกันก็จะกลายมาเป็นเรื่องชวนทะเลาะใหญ่โต ซึ่งเราคิดว่ามันสามารถเป็นไปได้ เพราะการที่คนเราจะเลิกกันบางครั้งก็ไม่เกี่ยวกับระยะทางที่ห่างไกลหรือสังคมหรอก บางทีมันเป็นเพราะอีกฝ่ายโตขึ้นจนคุณตามเขาไม่ทัน คุณก็จะเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นที่ปรึกษา เป็นความสบายใจในแต่ละวันของเขาไม่ได้อีกแล้ว สรุปไม่คนใดก็คนหนึ่งจะเริ่มรู้สึกว่านี่ฉันยืนผิดที่อยู่หรือเปล่า ทำไมทำอะไร พูดอะไรก็ดูเหมือนจะผิดไปหมดเลย
ใครเคยดูหนังเรื่อง How To Be Single (2016) จะเข้าใจความรู้สึกนี้ดี เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่หนังเบาสมอง แต่เป็นหนังที่ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมผู้หญิงคนหนึ่งที่มีรักดี ๆ อยู่ในมือถึงได้อยากเลิกกับแฟนตัวเองเพราะว่าชอบชีวิตตอนเป็นโสดมากกว่า ซึ่งในชีวิตจริงก็มีหลายคนที่คิดแบบนี้เหมือนกันนะ สาเหตุน่าจะมาจากบางคนติดแฟนมาก เรียนที่โรงเรียนจันทร์-ศุกร์ด้วยกันไม่พอ เสาร์-อาทิตย์เรียนพิเศษที่เดียวกันอีก ไปไหนทำอะไรด้วยกันตลอด แต่พอเข้ามหา’ลัยต่างคนต่างใช้ชีวิต มีเวลาให้กันน้อยลง ไอ้การที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรด้วยกันนี่แหละ มันเลยบังคับให้ต่างคนต้องทำอะไรด้วยตัวเองจากที่เคยทำด้วยกันสองคน เช่น ไปกินข้าวคนเดียว กลับบ้านเอง ไปชอปปิ้งกับแก๊งเพื่อนแทนที่จะมีเขามาคอยคอมเมนต์เรื่องเสื้อผ้าให้ตลอด ฟังแล้วดูน่าจะเหงาคูณเหงาคูณเหงาไปอีก แต่ที่แปลกแต่จริงก็คือแทนที่จะเหงาจนทนไม่ไหว เขากลับชอบชีวิตที่ได้ทำอะไรด้วยตัวเองแบบนี้มากกว่า ฉะนั้นก็เลยตัดสินใจที่จะเลือกอยู่คนเดียวซะเลย ง่าย ๆ คือ เขาเกิดความรู้สึก I am fine without you หรือเราก็โอเคเลยนะเวลาที่ไม่มีเธอ งั้นก็ไม่มีเธอไปเลยแล้วกัน บายยย
อันนี้ไม่ได้อยู่ที่เข้ามหา’ลัยเนาะ และการที่เขาจะเลิกกับเราเพราะมีคนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาหาคำอธิบายอะไรให้ยืดยาว เพราะมันคือความนิสัยเสียล้วน ๆ เลย เอาเป็นว่ายุคนี้แล้วไม่ต้องมัวนั่งเศร้า คิดซะว่าคนนี้อาจไม่ใช่เนื้อคู่ของเราแล้วลุกขึ้นมาดูแลตัวเองให้ดูดียิ่งกว่าเดิม แล้วเรียกคนต่อไปมาเข้าคิวดูตัวเลยดีกว่า