ปัสสาวะคือ ของเสียที่เราขับออกมาจากร่างกาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบขับถ่ายในร่างกาย การปัสสาวะเกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะ การทำงานของกระเพาะปัสสาวะมีการทำงานร่วมกันกับไต ท่อไต ท่อปัสสาวะ และหูรูดของท่อปัสสาวะ เป็นต้น
ปัสสาวะเกิดขึ้นจากการที่ไตขับของเสียออกมา โดยสิ่งที่ขับออกมาจากไตประกอบไปด้วยน้ำและของเสียในร่างกาย ซึ่งจะถูกกักเก็บไว้ในกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะมีกล้ามเนื้อที่สามารถหดและขยายตัวได้ เมื่อของเสียจากไตไหลลงมากักเก็บที่กระเพาะปัสสาวะมาก กระเพาะปัสสาวะก็จะมีการขยายตัวออก ขนาดของกระเพาะปัสสาวะอยู่ที่ประมาณ 500 – 1,000 มิลลิลิตร เมื่อมีปัสสาวะอยูในกระเพาะปัสสาวะประมาณ 160 – 300 มิลลิลิตรหรือประมาณครึ่งกระเพาะปัสสาวะ เราจะรู้สึกปวดปัสสาวะ เป็นสภาวะที่กระเพาะปัสสาวะตึง
ในกระเพาะปัสสาวะนั้นมีตัวรับแรงยืด คือ เส้นประสาท หากกระเพาะปัสสาวะมีปัสสาวะอยู่ครึ่งหนึ่งของกระเพาะ กระเพาะปัสสาวะจะตึง เมื่อกระเพาะปัสสาวะตึง เส้นประสาทบริเวณกระเพาะปัสสาวะจะส่งสัญญาณไปยังไขสันหลังและสมอง เกิดรีเฟล็กซ์หรือการสะท้อนสัญญาณกลับมายังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะหดตัว เมื่อกระเพาะปัสสาวะเกิดการหดตัว ความดันในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น หูรูดของท่อปัสสาวะก็จะเปิดออก และของเหลวไหลลงมาสู่ท่อปัสสาวะภายนอก ในตอนนี้เองปัสสาวะจะถูกกักเก็บไว้ในท่อปัสสาวะภายนอก
หากไม่ใช่เวลาที่ควรปัสสาวะ เราก็สามารถกลั้นปัสสาวะเอาไว้ได้ โดยสมองจะเป็นผู้ส่งสัญญาณกลับไปยังกระเพาะปัสสาวะ ทำให้หูรูดท่อปัสสาวะภายนอกหดตัว แต่หากร่างกายต้องการจะปัสสาวะ สมองจะส่งสัญญาณมายังกล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะภายนอกให้เกิดการคลายตัว และเกิดการปลดปล่อยปัสสาวะ
การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานอาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณกระเพาะปัสสาวะทำงานหนักมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ซึ่งเป็นสภาวะที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ การกลั้นปัสสาวะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะได้ โดยเฉพาะการเกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เพราะเมื่อมีปัสสาวะค้างอยู่ในท่อปัสสาวะนาน ๆ ทำให้เชื้อโรคเติบโตได้ดี นอกจากนั้นยังเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคต่อมลูกหมากโตในเพศชาย โรคไต เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง
- รู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไรต้องไปห้องน้ำ
- ส่วนประกอบของปัสสาวะกับที่มาของกลิ่นปัสสาวะ