น้ำ เป็นส่วนประกอบหนึ่งในร่างกาย เราสูญเสียน้ำในร่างกายผ่านการปัสสาวะ เหงื่อ นอกจากนั้นร่างกายเรายังสูญเสียน้ำผ่านทางผิวหนังและลมหายใจที่เราหายใจออก เราจึงต้องดื่มเครื่องดื่มเข้าไปทดแทนน้ำที่เสียไปจากร่างกาย ซึ่งปริมาณน้ำสำหรับผู้ใหญ่ที่ควรได้รับต่อวัน คือ 2.7 ลิตร สำหรับผู้หญิง และ 3.7 ลิตร สำหรับผู้ชาย
เครื่องดื่มเกลือแร่โดยทั่วไปมีน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ และยังประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต 6 - 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาร์โบไฮเดรตในเครื่องดื่มเกลือแร่ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำตาลชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำตาลกลูโคส น้ำตาลซูโครส และน้ำตาลฟรุกโตส นอกจากนั้นในเครื่องดื่มเกลือแร่ยังมีสารละลายที่สามารถนำไฟฟ้าในร่างกายได้ เรียกว่า อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ที่ทำให้แร่ธาตุในร่างกายเกิดสภาวะสมดุลของน้ำและยังช่วยการยืดและหดตัวของกล้ามเนื้อ อิเล็กโทรไลต์ในร่างกายมีหลายชนิด เช่น โซเดียม (Na) โพแทสเซียม (K) คลอไรด์ (Cl) คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยอิเล็กโทรไลต์ที่มักพบในเครื่องดื่มเกลือแร่ก็คือ โซเดียมและโพแทสเซียม
หลายคนอาจจะคิดว่า การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่หลังการออกกำลังกายช่วยซ่อมแซมร่างกายและช่วยทดแทนแร่ธาตุที่สูญเสียไปกับเหงื่อ แต่รู้หรือไม่ว่า การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ให้เกิดประโยชน์นั้นควรจะคำนึงถึงระยะเวลาและประเภทของการออกกำลังกาย
เครื่องดื่มเกลือแร่จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่ออกกำลังกายเป็นเวลานาน เครื่องดื่มเกลือแร่ไม่จำเป็นสำหรับคนที่ออกกำลังกายอย่างเบาหรือเล่นกีฬาที่ใช้กำลังไม่มาก เช่น การวิ่งเหยาะ ๆ หรือกีฬาที่ออกกำลังกายโดยใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมง นอกจากนั้นการออกกำลังกายเป็นเซต เช่น การเล่นเวท ซึ่งจะใช้เวลาระหว่างเซตในการพักก็ไม่จำเป็นเช่นกัน เนื่องจากในช่วงเวลาที่พักร่างกายจะไม่ค่อยสูญเสียคาร์โบไฮเดรตที่ถูกกักเก็บไว้ที่กล้ามเนื้อและตับในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) เมื่อเทียบกับการออกกำลังกายอย่างหนักที่ต้องดึงคาร์โบไฮเดรตที่ถูกกักเก็บในร่างกายมาใช้
นอกจากนั้นในการลดน้ำหนัก เราควรที่จะบริโภคให้น้อยกว่าการรับประทานเข้าไป ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ในบางครั้งอาจจะไม่จำเป็นเท่าไรนักแถมยังทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากเครื่องดื่มเกลือแร่ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลเป็นส่วนใหญ่ หากออกกำลังกายที่ไม่ได้ใช้แรงมากจึงควรคำนึงถึงแคลอรีของเครื่องดื่มเกลือแร่ที่บริโภคเข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มเกลือแร่ไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว เนื่องจากมันช่วยรักษาสมดุลน้ำและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายที่สูญเสียไปในรูปแบบของเหงื่อ อีกทั้งการที่มนุษย์ออกกำลังกาย โดยทั่วไปเหงื่อของมนุษย์ที่ออกมาเฉลี่ยประมาณ 0.3 – 2.4 ลิตรภายใน 1 ชั่วโมง ดังนั้น สำหรับนักกีฬาจึงไม่ควรสูญเสียน้ำมากเกินกว่า 2-3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวในระหว่างการออกกำลังกาย
หากจะให้เลือกระหว่างน้ำกับเครื่องดื่มเกลือแร่ เครื่องดื่มทั้งสองตัวนี้ก็สามารถทำให้ร่างกายลดการสูญเสียน้ำได้เช่นเดียวกัน แต่จากการวิจัยพบว่า เครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีรสชาติต่าง ๆ ทำให้นักกีฬาต้องการอยากจะดื่มน้ำมากยิ่งขึ้น ซึ่งดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าที่ไม่มีรสชาติ ดังนั้น รสชาติของเครื่องดื่มจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการอยากดื่มน้ำมากยิ่งขึ้นจึงทำให้ลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำในร่างกายได้