ไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 มีจุดศูนย์กลางการระบาดที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยปรากฏพบผู้ป่วยมาก่อน ไวรัสชนิดนี้เป็นโรคที่มีอาการคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ และส่งผลทำร้ายเนื้อเยื่อปอดโดยตรง ศูนย์กลางการระบาดของไวรัสโคโรน่าในปัจจุบันได้ย้ายจากจีนไปยังทวีปยุโรป โดยมียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการคัดกรองผู้ติดเชื้อในช่วงแรกนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากใช้เวลา 10-14 วัน ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ โดยในช่วงระหว่างที่ยังไม่แสดงอาการใด ๆ ผู้ที่มีเชื้อก็สามารถเป็นพาหะในการแพร่ของไวรัสได้ ด้วยเหตุนี้ การแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าจึงเกิดขึ้นในวงกว้าง และกระจายออกไปอย่างรวดเร็ว
หากย้อนไปในอดีต ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน (ค.ศ. 1918-1920) ซึ่งเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ มีผู้เสียชีวิตไปทั้งสิ้น 50 ล้านคน จุดเริ่มต้นของโรค เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยสภาพแวดล้อมที่แอดอัดและไม่ถูกสุขลักษณะในการตั้งค่าย จึงเอื้ออำนวยให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่าย เมื่อสงครามจบลง ทหารเหล่านั้นก็เดินทางกลับบ้าน พร้อมกับเป็นพาหะในการนำเชื้อแพร่กระจายไปยังบริเวณต่าง ๆ บนโลก การแพร่กระจายจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งมีผู้เสียชีวิตมากมายดังกล่าว
หากสามารถหยุดการแพร่กระจายเชื้อได้ เช่น การงดการเดินทาง จึงดูเป็นวิธีการที่ดีมาก ดังจะเห็นได้จากการปิดพื้นที่ การปิดห้างร้าน การกักตัว หรือกระทั่งการปิดประเทศ เพราะจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการสัมผัสกันของผู้คน ทั้งคนที่มีเชื้อแต่ยังไม่แสดงอาการ และคนที่ยังไม่ได้รับเชื้อ อย่างไรก็ตาม หากใช้วิธีการนี้ในระยะยาว ย่อมเกิดความเสียหายต่อสังคมและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก และถึงแม้สถานการณ์ในประเทศไทยจะไม่ร้ายแรงดังเช่นสถานการณ์ของเมืองอู่ฮั่น แต่ผู้คนก็ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากยังมีความกังวลถึงผู้ที่มีเชื้อแต่ไม่แสดงอาการนั่นเอง
การพัฒนาวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโคโรน่า สัดส่วนของจำนวนประชากรที่ได้รับ ต้องมีตั้งแต่ 60% ขึ้นไป จึงจะสามารถหยุดยั้งการระบาดของโรคได้ ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วก็จะไม่กลับมาเป็นอีก การแพร่ระบาดของไวรัสจึงค่อย ๆ ถูกควบคุมและหมดไปในที่สุด ซึ่งวิธีการนี้รู้จักกันในชื่อ “Herd Immunity”
โดยปกติแล้ว การพัฒนาวัคซีนขึ้นใหม่ ก่อนที่จะใช้กับมนุษย์ได้จริงนั้น ต้องมีการทดลองกับสัตว์ก่อน เพื่อศึกษาผลข้างเคียงที่อาจจะตามมา อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไวรัสโคโรน่านั้นได้รับการยกเว้น โดยวัคซีนได้รับการพัฒนาขึ้นด้วยความรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ แต่ก็ไม่มีสิ่งใดยืนยันได้ว่า ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเช่นไร โดยเฉพาะเมื่อต้องนำไปขยายผลใช้ในระดับโลก
หากวัคซีนที่คิดค้นขึ้นมาใหม่นั้น ผ่านการทดสอบต่าง ๆ ไปได้อย่างราบรื่น ทั้งหมดต้องใช้เวลาราว ๆ 12-18 เดือน กว่าทุกอย่างจะลงตัวเลยทีเดียว
เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา นาย แพทริก วัลแลนซ์ (Patrick Vallance) หัวหน้าที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของอังกฤษ ได้แสดงความเห็นว่า ต้องการยืดเวลาอัตราการระบาดของไวรัสโคโรน่าไปให้นานที่สุด เพื่อให้เกิด “Herd Immunity” ขึ้นเองในตัวประชากร เนื่องด้วยในสถานการณ์ที่ยังไม่มีวัคซีนที่ใช้รักษาโรคได้จริงนั้น การทำให้ผู้คนติดเชื้อจนมากพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในความเห็นของเขา แต่ความเป็นไปได้นี้ ประชากรต้องติดเชื้อในสัดส่วนอย่างน้อย 60% และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันภายในร่างกายของตัวเองได้
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้มีข้อโต้แย้งมากมาย ทั้งจากนักวิทยาศาสตร์เอง และองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ หากใช้วิธีนี้จริง จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๆ ถึง 2 ปี ในระหว่างนั้น อาจมีผู้ป่วยและเสียชีวิตนับล้านคน และถึงแม้แนวคิดนี้จะสำเร็จ หากแต่ก็เป็นเพียงสเกลในระดับประเทศ ซึ่งไม่เพียงพอจะการันตีว่า ทั่วทั้งโลกจะไม่เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีก
และเหนือสิ่งอื่นใด ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไวรัสโคโรน่านั้นยังมีอยู่น้อยมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดเพิ่งเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งน้อยเกินไปที่จะสามารถเข้าใจได้ว่า มันจะส่งผลอย่างไรต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ได้บ้าง การนำชีวิตคนเข้าไปเสี่ยงโดยตรงเช่นนั้น จึงไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้
ถ้าหากยังไม่อาจหาทางออกได้ ก็จำเป็นต้องค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน เพื่อลดอัตราการแพร่เชื้อให้ต่ำที่สุด โดยการสร้างมาตรการการตรวจวัดและคัดแยกผู้ป่วยที่เข้มงวดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น หากมีการแสดงอาการของโรคแม้เพียงเล็กน้อย ก็ต้องสามารถคัดแยกได้อย่างทันท่วงที อันจะนำไปสู่การควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อก่อนจะแพร่ไปสู่คนอื่นได้
นอกจากนี้ การเพิ่มขีดความสามารถในการรักษา การเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ดังเช่นที่จีนเริ่มสร้างโรงพยาบาลใหม่เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อตั้งแต่เริ่มตรวจพบผู้ป่วยรายแรกที่เมืองอู่ฮั่น ย่อมช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงลดผลกระทบต่อผู้ป่วยในโรคอื่น ที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นปกติอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีการนี้ ย่อมไม่สามารถกำหนดกรอบของเวลาที่แน่นอนได้เลย แต่ก็อาจเป็นวิธีที่เหมาะสม เพื่อชะลอการระบาดของไวรัส จนกว่าจะมีการรักษาที่ได้ผลแน่นอน อันจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ไวรัสกับแบคทีเรียต่างกันอย่างไร
- โรคระบาดคืออะไร