กรณีที่ร่างกายป่วย ระบบภูมิคุ้มกันของเราจะทำหน้าที่อย่างแข็งขันเพื่อกำจัดจุลชีพที่เป็นสาเหตุของอาการป่วยเหล่านั้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีการแพร่กระจายเชื้อในขณะที่ป่วย โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ทั้งจากการไอ จาม สัมผัสผู้ป่วย การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการติดเชื้อ เช่น อาหาร น้ำ หรือสัมผัสกับสิ่งมีชีวิตอื่น เช่น สัตว์เลี้ยง แมลง เป็นต้น
ในอดีต ผู้คนหลายล้านคนจากทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เช่น กาฬโรค ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย หรือไข้ทรพิษซึ่งมีสาเหตุมาจากไวรัส นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อไวรัสครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1918-1919 นั่นคือ ไข้หวัดสเปน ซึ่งในครั้งนั้นมีการแพร่ระบาดในวงกว้างและคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 20-40 ล้านคนเลยทีเดียว ส่วนเชื้อ HIV ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส ก็มีการระบาดและทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคเอดส์จำนวนไม่น้อยเช่นกัน
ทั้งไวรัสและแบคทีเรียล้วนทำให้คนเราเกิดการเจ็บป่วยได้ แต่แท้จริงแล้วแบคทีเรียโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสาเหตุของอาการเจ็บป่วยในมนุษย์ ทั้งนี้มีแบคทีเรียจำนวนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ของแบคทีเรียทั้งหมด ที่เป็นสาเหตุของโรคในมนุษย์ บางสายพันธุ์กลับยังเป็นประโยชน์กับมนุษย์อีกด้วย เช่น แบคทีเรียในลำไส้เล็กที่ช่วยในการย่อยอาหาร อย่างไรก็ตามแบคทีเรียบางชนิดก็เป็นข้อยกเว้น เช่น แบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการเจ็บคอ เป็นสาเหตุของวัณโรค หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แต่สำหรับไวรัสแล้ว พวกมันเป็นโทษต่อมนุษย์ โดยจะเข้าโจมตีเซลล์ร่างกายและเพิ่มจำนวนให้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นมันยังเข้าโจมตีเซลล์บางชนิดอย่างเฉพาะเจาะจงด้วย เช่น ไวรัสบางชนิดเข้าโจมตีตับ ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบเลือด นั่นคือความแตกต่างอย่างแรกระหว่างไวรัสกับแบคทีเรีย แต่นอกจากนี้แล้วพวกมันยังมีความแตกต่างกันอีกในหลาย ๆ ด้าน
แม้ว่าไวรัสและแบคทีเรียล้วนเป็นจุลชีพ แต่สำหรับแบคทีเรียแล้วถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งมีชีวิต พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวชนิดโปรคาริโอต (Prokaryote) หรือเซลล์ที่ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส ขณะที่ไวรัสถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต โดยเป็นเพียงอนุภาคอย่างหนึ่งเท่านั้น ซึ่งพวกมันไม่มีทั้งการหายใจและกระบวนการเมทาบอลิซึมเช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นเลย
แบคทีเรียมีขนาดประมาณ 1,000 นาโนเมตร สามารถมองเห็นได้โดยใช้กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง ส่วนไวรัสมีขนาดเพียง 20-400 นาโนเมตรเท่านั้น สามารถมองเห็นได้โดยใช้กล้องจุลทรรศน์แบบอิเล็กตรอน ดังนั้น ไวรัสจึงมีขนาดเล็กกว่าแบคทีเรียมาก แม้ไวรัสสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ก็ยังเล็กกว่าแบคทีเรียสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กที่สุดอยู่ดี
เนื่องจากแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว จึงมีผนังเซลล์ที่แข็ง และห่อหุ้มด้วยเยื่อหุ้มเซลล์ที่นุ่มหยุ่น ภายในประกอบด้วยไซโทพลาซึมเช่นเดียวกับเซลล์ทั่วไป ส่วนไวรัสนั้นไม่มีผนังเซลล์ แต่จะถูกห่อหุ้มด้วยโปรตีนด้านนอก เรียกว่า แคปสิด (Capsid) และมีสารพันธุกรรมอย่าง DNA หรือ RNA อยู่ตรงกลาง
ตามหลักฐานฟอสซิลที่บันทึกไว้ แสดงให้เห็นว่าแบคทีเรียมีชีวิตยาวนานประมาณ 3.5 พันล้านปีมาแล้ว และพวกมันสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างอิสระโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยในพืช สัตว์ หรือมนุษย์ แม้ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เช่น ร้อนจัด หนาวจัด บริเวณที่มีความเป็นกรดรุนแรง หรือในกากกัมมันตรังสี พวกมันก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่สำหรับไวรัสแล้ว มันจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่หรือเพิ่มจำนวนได้เลยหากไม่มีโฮสต์ ดังนั้น ไวรัสจึงเป็นปรสิตชนิดหนึ่งด้วย
ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างไวรัสกับแบคทีเรียก็คือ ยารักษา สำหรับแบคทีเรียแล้ว แพทย์จะให้ยาต้านจุลชีพ (Antimicrobials) ในการรักษาอาการป่วยที่เกิดจากแบคทีเรีย ซึ่งมันใช้ไม่ได้ผลกับอาการป่วยที่เกิดจากไวรัส ส่วนอาการป่วยที่เกิดจากไวรัสจะป้องกันโดยการฉีดวัคซีน ดังนั้น หากใช้ยาต้านจุลชีพไม่เหมาะสมก็อาจจะทำให้แบคทีเรียต้านทานต่อการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพได้ในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง
- สิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวกับโลกยุคน้ำแข็ง