วารสาร Biological Psychiatry ได้ตีพิมพ์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน จากกลุ่มตัวอย่างแพทย์จบใหม่ฝึกงานที่เข้ารับการทำงานในปีแรก หรือที่เรียกว่า “Intern” จำนวน 250 คนในสหรัฐอเมริกา พบความสัมพันธ์บางอย่างกับความยาวของเทโลเมียร์ (ฃอยู่บริเวณปลายสุดของแท่งโครโมโซม) ที่หดสั้นลงมากกว่าปกติถึง 6 เท่า ในช่วงเวลาเพียง 1 ปีที่ทำงานเท่านั้น
เทโลเมียร์ (Telomere) คือ ปลายของสาย DNA ซึ่ง DNA ก็คือรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ เทโลเมียร์ช่วยปกป้องสายดีเอ็นเอไม่ให้ถูกทำลายมากไปก่อนเวลาอันควร เทโลเมียร์จึงเปรียบเสมือนปลอกพลาสติกหุ้มปลายเชือกรองเท้า ไม่ให้เชือกรองเท้าหลุดรุ่ยและพังก่อนเวลาอันควรนั่นเอง โดยปกติแล้ว เทโลเมียร์จะหดสั้นลงตามอายุขัยที่ล่วงเลยไปของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดการหด เร็ว-ช้า แตกต่างกันไปตามบุคคล เช่น อาหาร การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแม้กระทั่งความเครียด
การศึกษากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวนั้น เริ่มต้นด้วยการเก็บตัวอย่างความยาวเทโลเมียร์นับตั้งแต่ช่วงแรก จนถึงช่วงสิ้นสุดการเป็น intern ซึ่งผลจากตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า ความยาวเทโลเมียร์ของกลุ่มตัวอย่างนั้นสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปัจจัยหลักที่มีผลโดยตรงกับการหดสั้นของเทโลเมียร์ก็คือ “จำนวนชั่วโมงในการฝึกงานในแต่ละสัปดาห์”
โดยเฉลี่ยแล้ว แพทย์ฝึกงานในกลุ่มตัวอย่าง ทำงานโดยเฉลี่ย 64.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และยิ่งบางคนต้องทำงานมากถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ก็ยิ่งพบแนวโน้มการหดสั้นลงของเทโลเมียร์มากขึ้นอีกด้วย
ผลจากการที่เทโลเมียร์หดสั้นลงที่แสดงออกทางพฤติกรรมนั้น พบว่าบุคคลิกของตัวบุคคลจะเปลี่ยนไป มีความแปรปรวนของอารมณ์ มีการตอบสนองที่รวดเร็ว แต่มีความผ่อนคลายน้อยลง
อย่างไรก็ตาม จากการเก็บตัวอย่างนักศึกษาในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 จำนวน 84 คน กลับไม่พบการหดตัวของเทโลเมียร์ในระดับสูงแต่อย่างใด แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับความเครียดยาวนานตลอดทั้งปีก็ตาม ดังนั้น นักวิจัยจึงต้องการที่จะเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากกลุ่ม intern โดยการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนติดตามพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรม อารมณ์ และการนอนหลับ ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลอย่างไรกับความยาวเทโลเมียร์ที่เปลี่ยนไปตลอดระยะเวลา 1 ปีของการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การทำงานแบบเปลี่ยนกะของบุคคลากรทางการแพทย์ ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตและการพักผ่อนเปลี่ยนไป หรือการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจทำให้ความเครียดเพิ่มขึ้น และส่งผลในระดับชีวโมเลกุลได้เช่นกัน
เทโลเมียร์ที่หดสั้นลงผิดปกติ จะทำให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะเจ็บป่วยได้ง่าย และมีความเชื่อมโยงไปสู่โรคที่เกิดจากความเสื่อม เช่น โรคมะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ อัลไซเมอร์ เบาหวาน และอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า การหดลงของเทโลเมียร์ มีความสัมพันธ์กับการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอีกด้วย