หลายคนชอบให้หน้าจอมีแจ้งเตือนเยอะ ๆ จะได้ดูเหมือนว่ามีอะไรทำ เปิดโหมดแจ้งเตือนทุกแอป อะไรแจ้งเตือนเมื่อไหร่ ก็ต้องสไลด์หน้าจอเข้าไปดูทันที ทั้งที่ตอนแรกก็ไม่ได้อยากดูหรอก สุดท้ายก็ต้องวางสิ่งที่ตั้งใจทำอยู่ไปสไลด์หน้าจอเช็กอยู่ดี แถมพอเข้าไปเช็กก็อาจทำให้หงุดหงิดเข้าไปอีก เวลาเจอโพสต์ที่ไม่ชอบ จากที่อารมณ์ดี ๆ ก็กลายเป็นอารมณ์บูดไปเลย !
ลองปิดแจ้งเตือนแอป Twitter หรือ Facebook ดู เพราะเป็นแอปที่สามารถเข้าไปเช็กเมื่อไหร่ก็ได้ เลือกเปิดแจ้งเตือนเฉพาะแอปที่ต้องใช้ติดต่อกับคนอื่น เช่น Line, Messenger ฯลฯ การปิดแจ้งเตือนจะทำให้เราควบคุมการใช้การโซเชียลมีเดียของตัวเองได้มากขึ้น ไม่มีอะไรเด้งขึ้นมาขัดให้อารมณ์เสีย บางคนพอมีแจ้งเตือนโพสต์ดราม่าก็เข้าไปส่อง ไม่ได้หลับไม่ได้นอน แทนที่จะได้นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ตื่นอย่างสดชื่น ไปโรงเรียนอย่างมีความสุข ก็ต้องมาอดนอนเพราะตามดราม่า
ข้อดีของการปิดแจ้งเตือน
• ทำให้เราควบคุมตัวเองได้ว่าจะเช็กโซเชียลเมื่อตอนที่เราต้องการเท่านั้น ไม่ใช่ต้องเข้าไปเช็กทุกครั้งที่แจ้งเตือนเด้งขึ้นมา
• มีเวลาให้กับเรื่องที่อยากทำมากขึ้นโดยไม่มีอะไรมาขัดสมาธิ เช่น อ่านหนังสือ เรียนพิเศษ อยู่กับครอบครัว อยู่กับเพื่อน อยู่กับแฟน ฯลฯ
• ทำให้เราไม่ติดมือถืองอมแงมมากเกินไปในอนาคต
• จิตใจสงบมากขึ้น ไม่สมาธิสั้น สามารถทำอะไรได้นาน ๆ มากขึ้น
การ Mute เป็นการรักษาน้ำใจอย่างหนึ่งในโซเชียลมีเดีย เคยได้ยินเพื่อนบอกว่า “มึงมิวท์กูก็ได้นะ ถ้ารำคาญ” มิวท์คือการที่เราไม่อยากเห็นโพสต์ใครในหน้าฟีด แต่ยังติดตามหรือเป็นเพื่อนกันอยู่ ซึ่งมิวท์ไม่ได้แปลว่า เราไม่ชอบคนนั้น แต่เราแค่ไม่ชอบสิ่งที่เขาโพสต์ หรือเเชร์บ่อย ๆ
บางครั้งคนที่เราติดตามก็มีหลายมุม และไม่ใช่ทุกมุมของเขาที่เราชอบ การได้เห็นมุมที่เราไม่ชอบจากเขาบ่อย ๆ ก็สร้างความรำคาญให้เราได้ เช่น เพื่อนชอบแชร์ BNK48 ดาราเกาหลี การ์ตูน การเมือง แต่เราไม่ได้ชอบเรื่องพวกนี้ ก็เลยมิวท์เพื่อนไป แต่เราก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ คือเราไม่ได้โกรธอะไรเพื่อนหรอก แต่เราแค่สนใจไม่เหมือนกันเฉย ๆ ขอกดมิวท์เงียบ ๆ นะเพื่อน...รักเหมือนเดิมอยู่ดี !
จำครั้งสุดท้ายที่กดอันฟอลใครสักคนได้ไหม ? หลายคนอาจตอบว่าแฟนเก่าค่ะ แต่การอันฟอลก็ใช้ได้ทั้งกับคน และ เพจ สาเหตุการเลิกติดตามก็มีหลายเหตุผล เช่น เหม็นหน้าคนนั้น ไม่ชอบคอนเทนต์เพจนั้น ไม่ชอบสิ่งที่เขาแชร์ อารมณ์คล้าย ๆ กับ Mute แต่อันเฟรนด์คือจะไม่เป็นเพื่อนในโซเชียลกันแล้ว ส่วน อันฟอลคือจะไม่เห็นทุกอย่างที่เขาโพสต์ขึ้นหน้าฟีดเราอีกเลย แต่จะยังเป็นเพื่อนกันอยู่
การที่เราไม่ชอบใครแล้วกดอันฟอลเป็นวิธีที่ฉลาดในการเล่นโซเชียลนะ เพราะถ้าเราไม่ชอบใครแต่ยังไปตามเขาอยู่ เวลาที่เขาโพสต์อะไรที่เราไม่ชอบ เราก็จะหงุดหงิด ทั้งที่เขาไม่ได้ผิดเลย แต่เราต่างหากที่ไม่ชอบเขาเอง แถมยังไม่ยอมอันฟอลเขาอีกต่างหาก ดังนั้นใครอยากลดดราม่าก็กล้า ๆ อันฟอลอะไรที่เราไม่โอเคบ้างก็ได้ จะได้เล่นโซเชียลได้สนุกขึ้น
วิธีนี้อาจจะเป็นขั้นสุดของการเล่นโซเชียลให้สบายใจไม่ดราม่าก็ว่าได้ ก็คือการบล็อกไปเลย ชาตินี้ไม่ขอเจออีก ไม่มีโอกาสที่สอง หายไปจากสารบบ ไม่ต้องมารู้จักกันอีกต่อไป เหตุผลส่วนใหญ่ถ้าเราบล็อกใครก็แปลว่าเขาอาจจะเป็นภัยอันตรายต่อเราทั้งร่างกาย จิตใจ และความปลอดภัยในชีวิต แต่บางครั้งก็บล็อกเพราะทำใจไม่ได้ อย่างแฟนเก่ามีแฟนใหม่ มันสำลักความสุขของเขากับเธอ
การบล็อกก็เป็นการเล่นโซเชียลให้สบายใจวิธีหนึ่งนะ เพราะถ้าใครมาทำให้เราไม่มีความสุขในการเล่นโซเชียล เราก็แค่บล็อกแต่สังคมจะชอบมองว่าการบล็อกคนอื่นมันไม่ดี ทำให้เราดูเป็นคนร้าย ๆ แต่ความจริงแล้ว บางครั้งเราก็แค่ไม่ต้องการพลังงานลบแบบนั้นในชีวิตเท่านั้นเอง และ It’s ok to block someone !
การที่เราไม่ชอบอะไร แล้วยังต้องเกรงใจฝืนเป็นเพื่อนกันในโซเชียลต่อไป อาจจะสร้างความรำคาญใจไม่จบสิ้น คำว่า “รำคาญก็อันฟอลได้นะ” ในหมู่วัยรุ่นอาจจะไม่ได้แปลว่าโกรธหรือเกลียดกันอีกแล้ว แต่เป็นการให้โอกาสตัวเอง ให้โอกาสเพื่อนได้เล่นโซเชียลแบบฟิน ๆ โนดราม่า
แหล่งข้อมูล