เคยไหม? รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ทำอะไรได้หลายอย่าง แต่ดันไม่เก่งไปด้านใดด้านหนึ่งสักอย่างหรือที่ใคร ๆ เรียกความสามารถพิเศษแบบนี้ว่า “เป็ด (Generalist)” ในขณะเดียวกันก็มีคนที่ไม่ชอบทำอะไรที่ตัวเองไม่ถนัด และเมื่อได้ทำสิ่งที่ตัวเองถนัดมาก ๆ จะทำได้ดีมากเป็นพิเศษ เราเรียกความเก่งลงลึกแบบนั้นว่า “ผู้เชี่ยวชาญ (Specialist)” ฟังดูแล้วทั้งสองอย่างมีข้อดีและข้อเสีย แล้วแบบนี้เราจะตัดสินได้อย่างไร ว่า เป็ด VS ผู้เชี่ยวชาญ แบบไหนไปได้ไกลกว่ากัน และแบบไหนกันนะ ที่ทำให้เราเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ
เอาล่ะต้องบอกว่าเรื่องนี้ถือว่าเป็นความสับสนในคนทุกวัยเลยนะ ไม่ใช่แค่เพียงเด็ก ๆ มัธยมต้นเท่านั้นที่ปวดใจเวลาเลือกชมรมที่ชอบไม่ได้ เด็กมัธยมปลายที่พยายามเลือกคณะที่อยากเรียนมา 3 ปี ก็เลือกไม่ได้สักที นิสิตมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้จะไปสมัครงานสายไหน เพราะ 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดหรือชอบอะไร เห็นไหมว่ายากนะ โดยเฉพาะในยุคที่เราต่างก็มีความรู้กว้างแบบนี้ ฉะนั้นแล้วประเด็นมันจึงใหญ่พอที่จะมีนักวิจัยจากมหาลัยชื่อดังหลายแห่ง ได้ทำการค้นคว้าหาคำตอบและถกเถียงกันในประเด็นนี้
ในยุคก่อนการที่เราเก่งด้านในด้านหนึ่งอย่าง Specialist ย่อมได้เปรียบและเป็นที่ต้องการทางตลาดมากกว่าใช่ไหม แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว กระแสของตลาดได้สวนทางกันเพราะคนที่รู้กว้าง ๆ อย่าง Generalist เป็นที่มองหาของ HR มากกว่า นั่นเพราะยุคนี้คือยุค Multi Task คนเดียวต้องทำได้หลายอย่างต้องสามารถฝึกฝนได้ไม่เก่งไปด้านในด้านเดียวจนทำอย่างอื่นไม่ได้ เรียกว่า ALL IN ONE ดีกว่า ทำให้บริษัทไม่ต้องจ่ายเงินเดือนค่าความถนัดให้กับ Specialist ในราคาที่แพงกว่า สู้ไปฝึกคนที่รู้กว้าง ๆ เอา น่าจะดีกว่า แต่! แต่การถกเถียงยังไม่จบ เพราะอีกฝากฝั่งหนึ่งของบริษัทจัดหางานก็ยืนยันว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจำเป็นอย่างมาก ที่จะทำให้บริษัทมั่นคง และไม่ใช่ว่าทุกองค์กรจะฝึกคนที่รู้กว้าง ๆ ให้มาเก่งเฉพาะทางกันได้ เช่น แพทย์ นักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
แล้วทีนี้จะจบยังไงกับบทความนี้ ก็ต้องขอบคุณการวิเคราะห์หนึ่งที่ได้ยกตัวอย่างการมีความรู้แบบตัว “T” ขึ้นมา ซึ่งความรู้แบบนี้คือ เราควรจะหาให้เจอว่าเรารู้สึกสนใจอะไรสักอย่างแบบลงลึกเป็นแนวดิ่ง ไม่ต้องยาก เช่น สนใจวงการกีฬาประเภทนี้แบบลึกซึ้ง แต่เราก็ต้องไม่ลืมที่จะหาความรู้กว้าง ๆ ของกีฬาประเภทนี้แบบแนวนอนด้วย เช่น แฟชั่นของเสื้อผ้านักกีฬา บทเพลงที่นักกีฬาในดวงใจชอบฟัง ธุรกิจของกีฬาอื่น ๆ อะไรประมาณนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในโมเดลความรู้ตัวแบบ T เขาบอกว่าต้องคนนี้เลย “อีลอน มัสก์” (Elon Musk) แห่ง SpaceX เก่งลึกในด้านวิทยาศาสตร์ และเขาก็ยังหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์ไปเกี่ยวข้องด้วย อ่านหนังสือเยอะมาก ทำให้เขาเข้าใจในงานแบบครอบคลุมไปจนถึงการพัฒนางานได้อย่างดีเยี่ยมในเวลาอันรวดเร็ว นั่นก็เพราะเขาให้ความสำคัญกับความรู้ทั้งสองอย่างนั่นเอง
สุดท้ายนี้แล้ว สิ่งที่อยากจะสื่อสารกับใครก็ตามที่สับสนในตัวเองอยู่ว่า ฉันจะไปรอดไหม เก่งอยู่อย่างเดียว เรื่องอื่นไม่ได้เรื่อง หรือ ฉันไปไม่รอดแน่ เพราะฉันรู้หลายเรื่อง แต่ไม่เก่งเลยสักเรื่อง การเก่งสุดโต่งไปเลยเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องตามโลกที่หมุนเร็วสุด ๆ ใบนี้ให้ทันด้วย เส้นทางการเติบโตอยู่ที่มุมมองการมองชีวิตตัวเองโดยวาดแผนที่ชีวิตตัวเองเอาไว้คร่าว ๆ ให้เห็นสเต็ปทีละสเต็ป จากนั้นปรับมันไปตามจังหวะชีวิตของตัวเอง
“เป็ด VS ผู้เชี่ยวชาญ” ไม่มีใครบนโลกยืนยันว่าแบบไหนดีที่สุด แต่มีการยืนยันว่า พวกเขาจะทำงานได้ดีที่สุดในจังหวะของตัวเอง
Specialist vs. Generalist เชี่ยวชาญเฉพาะทางหรือรู้แบบกว้าง ๆ ใครหางานง่ายกว่ากัน สืบค้นจาก https://thestandard.co/business-rocket-specialist-vs-generalist
Generalist VS. Specialist : เมื่อเป็ดแข่งกับผู้เชี่ยวชาญ สืบค้นจาก https://soundcloud.com/tomorn-9118702/generalist-vs-specialist