Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

10 เทคนิคจัดการเวลายังไงให้เรียนเป๊ะงานปัง

Posted By witchy_fah | 10 มี.ค. 63
30,155 Views

  Favorite

       การบริหารจัดการเวลา (Time Management Skills) เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญสำหรับน้อง ๆ นักเรียนและคนวัยทำงานทุกคน เพราะแต่ละคนมีเวลาเท่ากันในแต่ละวัน คือ 24 ชม. ถ้าหากจะวัดว่าใครใช้เวลาได้อย่างเป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด ก็คงต้องมาดูกันที่ทักษะการบริหารจัดการเวลาของแต่ละคน

       ไม่ว่าจะวัยเรียนที่การบ้านเพียบ หนังสือสอบก็ต้องอ่าน หรือวัยทำงานที่ต้องทั้งปั่นโปรเจ็คต์ คิดงาน หรือเข้าประชุมตั้งครึ่งค่อนวัน แล้วจะมีเวลาไหนที่ได้ผ่อนคลายบ้าง โดยที่ประสิทธิภาพการเรียนการทำงานยังเป๊ะปังอยู่ ลองอ่าน 10 เคล็ดลับการพัฒนาทักษะการจัดการเวลากัน

shutter stock

     

1. กำหนดตารางเวลาให้เป๊ะ

       การทำตารางเวลาหรือที่เรียกกันว่า schedule เป็นการกำหนดตารางชีวิตในภาพรวมว่าในช่วงเวลานั้น ของเดือน หรือไตรมาสนั้น (3 เดือน) มีอะไรที่เราต้องทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้บ้าง ทำพรีเซนต์ของโปรเจ็คใหญ่ที่ได้รับมอบหมาย เขียนบทความ 10 บทความภายในหนึ่งเดือน ประชุมภาพรวมของทีม หรือน้อง ๆ นักเรียน อาจจะจัดเวลาการทบทวนบทเรียน หลังจากการเรียนในแต่ละวัน ทำการบ้าน และกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนก่อนที่จะถึงวันสำคัญอย่างการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ต้องอย่าลืมใส่ช่วงเวลาการอยู่กับครอบครัว และการพักผ่อนของตัวเองลงไปด้วยนะ

2. ทำ checklist กันลืม 

       ตารางเวลาที่ป็นภาพรวมที่ทำให้เราเห็นภาพใหญ่ของช่วงเวลานั้น แต่ถ้าอยากลงให้ลึกเพื่อจัดระเบียบในแต่ละวัน ลองสละเวลาไม่ 10 นาทีต่อวัน อาจจะเป็นช่วงเช้าหรือก่อนนอน ทำรายการ checklist สิ่งที่ต้องทำในวันถัดไป เพื่อวางแผนสิ่งที่จะทำในส่วนย่อย และเติมเต็มแผนที่วางไว้ในภาพใหญ่ เช่น พรุ่งนี้ต้องหัดทำข้อสอบตะลุยโจทย์ 100 ข้อ หรือ คิดแผน PR โปรเจ็กต์ให้เสร็จเพื่อนำเสนอทีม เคล็ดลับหรือ การที่เราได้เขียนสิ่งที่ต้องทำจะช่วยให้เราไม่เผลอลืม และเชื่อสิ ความรู้สึกตอนที่งานชิ้นใดชิ้นหนึ่งเสร็จและคุณได้ขีดฆ่า checklist เหล่านี้ทีละอัน มันมีความสุขไม่เบาเลยนะ 

3. จัดลำดับความสำคัญให้เป็น

       เมื่อเราลิตส์สิ่งที่ต้องทำออกมาหมดแล้ว สิ่งสำคัญคือการลำดับความสำคัญว่าอะไรควรมาก่อนหลัง งานไหนเป็นประเภทเดียวกัน ทำต่อเนื่องกันได้ ให้จัดเป็นกลุ่ม ๆ เอาไว้ แล้วอย่าลืมใส่เดดไลน์หรือกำหนดวันจบงานด้วย การจัดลำดับความสำคัญแบ่งใหญ่ ๆ ได้ 4 แบบคือ 1.งานด่วนและสำคัญ ต้องทำทันที  2.งานด่วนแต่ไม่สำคัญ ให้ทำหลังจากงานสำคัญในข้อแรก 3. งานสำคัญแต่ไม่ด่วน จัดเวลาให้ดีเพื่อทำสิ่งนี้โดยเฉพาะ 4. งานไม่ด่วนและไม่สำคัญ จะเรียกว่าทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ต้องอยู่หลังสามข้อก่อนหน้า ลองทำตามนี้ ชีวิตอาจจะง่ายขึ้น แถมไม่เสียเวลาเปล่า ๆ ด้วย

 
shutter stock
shutter stock

 

4. แบ่งงานเป็นชิ้นย่อย ๆ 

       เวลาที่ครูหรือหัวหน้าสั่งงานมาให้ชิ้นหนึ่ง มันอาจจะดูจำนวนมากมายก่ายกอง เห็นแล้วปวดสมอง แต่ลองใช้วิธีตัดแบ่งออกเป็นชิ้นย่อย ๆ เช่น ต้องอ่านหนังสือ 50 หน้าภายใน 2 สัปดาห์ ลองใช้วิธีหารเฉลี่ยว่าแต่ละวัน มีเวลาเท่าไหร่ จะอ่านได้วันละกี่หน้า เมื่อทำดูแล้วจะเห็นว่าอ่านเพียงวันละเพียง 4 หน้า ซึ่งดูไม่ยากเกินไปใช่ไหมล่ะ

5. ตั้งเป้าหมายให้ไปถึงได้จริง 

       เวลาตั้งเป้าหมายเรื่องใดก็ตาม คนส่วนใหญ่มักตั้งเป้าไกลเกินเอื้อม และเมื่อไปไม่ถึงจุดนั้นจะมีอะไรเหลือนอกจากความรู้สึกท้อและแย่กับตัวเองลงไปอีก ลองตั้งเป้าหมายตามความเป็นจริงดู เช่น การอ่านหนังสือ 100 หน้าภายใน หนึ่งวันอาจจะเป็นไปไม่ได้ ลองเปลี่ยนเป็น 30 หน้า พร้อมการจดบันทึกสรุปย่อ แบบนี้น่าจะเป็นการอ่านและทำความเข้าใจที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 

6. ทำทีละอย่าง

       อุตส่าห์เขียน checklist ทำตารางชีวิต จัดลำดับงานเรียบร้อย แต่ยังจะทำงานสลับ สับสนปนเปไปมา แบบนี้เหมือนเราใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำทีละอย่างให้ดีและเสร็จเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากจะเร็วกว่าแล้ว งานยังมีคุณภาพมากกว่าด้วย 

shutter stock
 

7. ตั้งรางวัลให้ตัวเอง 

       เคล็ดลับนี้น่าสนใจและล่อตาล่อใจ สำหรับใครที่คิดว่าเรียนหนักและทำงานเครียดเกินไป ให้ลองตั้งรางวัลให้กับความตั้งใจและการจัดการเวลาอย่างมีวินัยของเราดู เช่น หากอยากได้ของสักชิ้น อาจจะเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ลองใช้วิธีหยอดเงินจำนวนหนึ่งลงในกระปุกในทุก ๆ ครั้งที่ทำงานสำเร็จหนึ่งชิ้น หรืออาจจะใช้วิธีการทำงานเสร็จตามเป้าภายใน 45 นาที จะสามารถพักเล่นเกมได้ 15 นาที  เป็นต้น 

8. ตื่นให้เช้าขึ้น 

      การตื่นเช้าขึ้นจะทำให้เราเร่งรีบน้อยลง ซึ่งก็จะเครียดน้อยลงด้วย ยิ่งหากคืนนั้นได้นอนอย่างเต็มอิ่มอากาศยามเช้าที่สดใสจะช่วยให้ผ่อนคลาย และขจัดความเครียดออกไปได้ แถมยังมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้นด้วย 

9. พักผ่อนให้พอ

      เขาว่ากันว่าการเริ่มต้นวันไม่ใช่เมื่อเราลืมตาตื่น แต่เป็นช่วงที่เราหลับตาลงนอนต่างหาก ถ้าอยากตื่นเช้าและเรียนหรือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การนอนให้ดีนอนให้พอเป็นสิ่งสำคัญมาก การโหมอ่านหนังสือหรือปั่นงานหามรุ่งหามค่ำ นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกว่าคุณยังจัดการเวลาได้ไม่ดีพอ 

10.  กำจัดสิ่งที่ทำให้วอกแวก

       ในยุคนี้อะไรบ้างที่จะทำให้เราวอกแวว เสียสมาธิไปกับงานที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นโลกโซเชียล เกม มือถือ สิ่งเหล่านี้มักจะทำให้เราเผลอไผลไปกดดูไลน์ที่เด้งเข้ามา เช็คเฟสบุ๊ก กดดูสตอรี่ เรื่อยเปื่อยเสียใจกินเวลาการทำงานที่เราตั้งไว้ เคล็ดลับมีหลายแบบ อาจจะลองนำมือถือไปไว้อีกห้องหนึ่งที่ยากเกินกว่าจะสามารถหยิบมาได้ หรืออาจจะใช้แอพลิเคชั่นมากมายในปัจจุบันที่มีการพัฒนา ให้เราหยุดกดมือถือในเวลาเรียนหรือทำงาน อาทิ stay focused ที่ให้เราสามารถบล็อตแอพลิเคชั่นที่รบกวนชั่วคราว หรือ Forest ที่ให้เราปลูกต้นไม้ดิจิทัลระหว่างทำงาน โดยหากแตะมือถือเมื่อไหร่ ต้นไม้คุณจะตายทันที 

shutter stock
shutter stock

       

       เคล็ดลับเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดการเวลาให้ดีขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เรียนหรือทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องทำทั้ง 10 ข้อ แต่ลองนำไปทดลองและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสไตล์ของตัวเอง เพียงเท่านี้คะแนนด้านทักษะการจัดการเวลาก็เราก็น่าจะพุ่งสูงขึ้นในอีกไม่ช้า หากใครยังไม่แน่ใจ ลองทำแบบทดสอบด้านล่างเพื่อเช็คทักษะการจัดการเวลาของคุณได้เลย

 

คุณมีลักษณะตามข้อความด้านล่างนี้ใช่หรือไม่ ใช่ / คุณมีลักษณะดังกล่าว  ไม่ / คุณไม่มีลักษณะดังกล่าว
1. จัดการงานต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี    
2. ยืดหยุ่นในการทำกิจกรรมต่างๆ ได้    
3. ตั้งเป้าหมายและทำงานจนบรรลุเป้าหมาย    
4. สบายใจในการทำงานให้สำเร็จตามแผนที่วางไว้    
5. จัดลำดับความสำคัญของงานหรือกิจกรรมต่างๆ ได้    

 

แหล่งข้อมูลUNIVERSITY OF THE PEOPLE

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • witchy_fah
  • 1 Followers
  • Follow