ปัจจุบันการดื้อยาต้านจุลชีพถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในวงการสาธารณสุขที่ทั่วโลกกําลังเผชิญ โดยในยุโรปมีประชากรที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาต้านจุลชีพเป็นจํานวนกว่า 33,000 คนต่อปี และมีการประมาณการว่าในปี ค.ศ. 2050 จะมีผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพเป็นจํานวนสูงถึง 10 ล้านคน โดยการใช้ยาต้านจุลชีพเกินขนาดถูกมองว่าเป็นสาเหตุสําคัญของปัญหานี้
เกือบ 100 ปีมาแล้วที่ Alexander Fleming ได้ค้นพบยาต้านจุลชีพ หรือ ยาปฏิชีวนะ penicillin ซึ่งได้กลายมาเป็นหนทางในการรักษาโรคติดเชื้อแทบทุกชนิดบนโลก และกลายเป็นรากฐานสําคัญสําหรับแพทย์แผนปัจจุบัน ที่ช่วยให้เราสามารถทําการผ่าตัดที่อาจก่อให้เกิดแผลขนาดใหญ่ การปลูกถ่ายอวัยวะ การดูแล รักษาทารกที่คลอดก่อนกําหนด เคมีบําบัด รวมไปถึงการรักษาอาการติดเชื้อที่นําไปสู่โรคร้ายแรงและการเสียชีวิตได้
การดื้อยาต้านจุลชีพ คือ ภาวะที่จุลชีพมีความสามารถทนต่อยาต้านจุลชีพที่เคยมีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อจุลชีพดังกล่าว ทั้งนี้การดื้อต่อยาปฏิชีวนะนี้เกิดขึ้นในจุลชีพเท่านั้น คนหรืออวัยวะที่เกิดการติดเชื้อจุลชีพนั้นไม่อาจก่อให้เกิดการดื้อยา ปฏิชีวนะได้ ในปี ค.ศ. 2014 ด้วยความรุนแรงของการดื้อยาต้านจุลชีพทําให้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ประกาศให้ปัญหาการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียเป็น "ปัญหาสําคัญเร่งด่วนที่สุด" ที่เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลกและทุกคนล้วนจะต้องได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ ไม่ว่าวัยใด หรือประเทศใดก็ตาม การดื้อยานี้ทําให้แบคทีเรียเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น ยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลจะไม่สามารถใช้งานได้กับคนที่ต้องการการรักษาโรคที่เกิดติดเชื้อนี้ และประกาศให้การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นภัยคุกคามหลักต่อการสาธารณสุขในปัจจุบัน
การดื้อต่อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียนั้นเป็นภาวะฉุกเฉินที่พบเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก โดยการดื้อต่อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียเป็นการตอบสนองและการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในขณะที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อกําจัดเชื้อแบคทีเรียนั้น ๆ โดยการดื้อยานี้อาจเกิดจากการปรับตัวทางกายภาพหรือทางพันธุกรรมของแบคทีเรียนั้นก็ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเชื้อเพิ่มขึ้นแม้จะมีการใช้ยาปฏิชีวนะในขนาดที่สูงขึ้นก็ตาม ในบางสภาวะการใช้ยาปฏิชีวนะอาจทําให้เกิดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียดื้อยามากขึ้น ในขณะที่แบคทีเรียซึ่งยังมีความไวต่อยาถูกกําจัดออกไป
การดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เองทั่วไปในธรรมชาติ โดยมีการค้นพบยีนที่มีมาแต่โบราณซึ่งเป็นยีนทําให้แบคทีเรียเหล่านั้นดื้อต่อยาปฏิชีวนะ โดยยาปฏิชีวนะนั้นอาจเป็นยาที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยแบคทีเรียนั้น ๆ โดยยีนที่ดื้อยาเหล่านั้นอาจถูกถ่ายทอดจากแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรคไปยังแบคทีเรียอื่นที่ก่อโรคและทําให้แบคทีเรียที่ได้รับยีนนี้เข้าไป สามารถทนต่อยาปฏิชีวนะได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ได้ว่าโลหะหนักและสารก่อมลพิษอื่น ๆ อาจมีส่วนในการทําให้เกิดการแพร่กระจายของแบคทีเรียดื้อยาได้ โดยโลหะหนักและสารพิษเหล่านั้นจะทําให้แบคทีเรียที่ไม่ดื้อยา ไม่สามารถดํารงชีวิตอยู่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม แบคทีเรียที่ดื้อยาจะไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว และจะมีการเพิ่มจํานวนมากขึ้นเพื่อทดแทนแบคทีเรียไม่ดื้อยาที่ลดจํานวนลงไป
สําหรับการดื้อยาปฏิชีวนะในมนุษย์นั้นมีสาเหตุหลักมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมและไม่จําเป็นเพื่อการรักษา โดยมากกว่าร้อยละ 50 ของการใช้ยาปฏิชีวนะในมนุษย์พบว่าเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม และไม่ตรงตามข้อบ่งใช้ นอกจากนี้การที่มีระดับความเข้มข้นของยาปฏิชีวนะในร่างกายต่ำมากเกินไปก็อาจก่อให้เกิดการดื้อยาของแบคทีเรียได้ผ่านกระบวนการการเหนี่ยวนําให้เกิดการกลายพันธุ์ของแบคทีเรียนั้น ๆ ส่งผลให้แบคทีเรียดังกล่าวสามารถเจริญเติบโตอยู่ได้ ตามปกติถึงแม้จะมีการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดเดิม ที่ให้ความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดมากขึ้นกว่าเดิมก็ตาม
ก้าวต่อไปของงานวิจัยการดื้อยาต้านจุลชีพ ในโครงการ uCARE ของสหภาพยุโรปกําลังศึกษาผลกระทบจากการใช้ยาประเภทอื่นที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ ถึงความเป็นไปได้ในการเหนี่ยวนําให้เกิดการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่เราอาจจะมองข้ามไป
โดยมีกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ยาประเภทอื่นที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ ณ ความเข้มข้นปกติสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในลําไส้ได้เช่นกัน โครงการ uCARE ได้ทดสอบยาประเภทอื่นที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะจํานวน 800 ชนิด และพบว่าหนึ่งในสี่ของยาที่ถูกทดสอบสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ได้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าท้ายที่สุดแล้ว เชื้อแบคทีเรียจะพัฒนาความสามารถของการดื้อยาต่อยาเหล่านี้ได้เหมือนในกรณีของยาต้านจุลชีพ ซึ่งนั้นหมายความว่าการทานยาที่ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะอาจทําให้ร่างกายเกิดอาการดื้อยาต้านจุลชีพได้เช่นกัน
หนึ่งในวิธีการรักษาที่ทางโครงการ uCARE กําลังศึกษาอยู่นั่นคือ การใช้ยาหลาย ๆ ประเภทร่วมกัน โดยปกติแล้วในปัจจุบันเราจะใช้ยาชนิดเดียวในการรักษาโรคแต่ละโรค ซึ่งการใช้ยาหลายประเภทในการจัดการกับเชื้อแบคทีเรียอาจจะทําให้เชื้อแบคทีปรับตัวได้ยากกว่า ซึ่ง ยาที่จะถูกเลือกใช้ก็ไม่จําเป็นที่จะต้องเป็นยาปฏิชีวนะ โดยยังมีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติต้านจุลชีพได้ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยในการค้นหาและพัฒนายาที่ไม่จําเป็นต้องยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และไปหยุดกระบวนการการพัฒนา ความสามารถในการดื้อยา อีกหนึ่งมาตรการที่น่าสนใจคือ การใช้ยาที่ เฉพาะเจาะจงกับเชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิดมากขึ้น ที่ออกหรือมีฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อใช้จัดการกับแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเท่านั้น โดยไม่ส่งผลต่อแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ในร่างกาย เพื่อลด ความเสี่ยงของแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ในการพัฒนาความสามารถในการดื้อยาต้านจุลชีพ ดังนั้นวิธีนี้จึงเป็นการมุ่งสู่การรักษาแบบเจาะจงพร้อมป้องกันการเกิดอาการดื้อยา
นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ในการใช้แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในการต่อสู้กับแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเพื่อใช้รักษาโรคต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันมีการทดสอบทางคลินิกในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย Clostridium difficile ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ดื้อยาต้านจุลชีพได้ในระดับหนึ่ง
อีกหนึ่งทางเลือก คือ phage therapy ซึ่งเป็นการใช้เฟจ (phage) ในการจัดการกับเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเฟจนั้นเป็นไวรัสของแบคทีเรียที่พบอยู่มากมายในธรรมชาติ โดยพบร่วมกับแบคทีเรียที่เป็นโฮสต์ที่จําเพาะ สามารถจําแนกเป็นกลุ่มได้ตามชนิดของสารพันธุกรรม (DNA หรือ RNA) และรูปร่างลักษณะได้เป็น 13 กลุ่ม เฟจมีวงจรชีวิต 2 แบบ คือ lytic ที่ทําลายแบคทีเรียหลังเพิ่มจํานวนเพื่อปลดปล่อยอนุภาคออกจากเซลล์ และ lysogenic ที่จะแทรกสารพันธุกรรมเข้าไปอยู่ในสารพันธุกรรมของโฮสต์โดยไม่เกิดการทําลายแบคทีเรีย เนื่องจากเฟจมีความจําเพาะกับแบคทีเรียสูงเราจึงสามารถใช้เฟจเพื่อจัดการกับแบคทีเรียชนิดที่ก่อให้เกิดโรค โดยไม่ส่งผลกระทบต่อแบคทีเรียชนิดดีในร่างกาย จึงเป็นการลดความเสี่ยง ของการดื้อยาต้านจุลชีพ
อีกหนึ่งวิทยาการทางการแพทย์ คือ Faecal Microbiota Transplantation (FMT) หรือ การปลูกถ่ายเชื้อจุลินทรีย์ในอุจจาระ ซึ่งหมายถึงการนําอุจจาระของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมีเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีไปใส่ในลําไส้ของผู้ติดเชื้อเพื่อเปลี่ยนไมโครไบโอตาในลําไส้และจัดการกับแบคทีเรียชนิดที่ก่อให้เกิดโรค
การรักษาแบบ FMT มีแนวคิดในการนําอุจจาระของผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง นํามาใส่ในลําไส้ใหญ่ของผู้ป่วย ระหว่างการส่องกล้องตรวจลําไส้ (colonoscopy) ซึ่งการนําจุลินทรีย์ที่มีชีวิตจากอุจจาระคนหนึ่งเข้าสู่ลําไส้ใหญ่อีกคน เสมือนเป็นการเปลี่ยนถ่ายหรือการนําสิ่งมีชีวิตไปใส่ จึงเรียกว่า Faecal Transplantation ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มศักยภาพของจุลินทรีย์ประจําถิ่น ชนิดดีที่เสียหายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งจากผลการรักษาชี้ให้เห็นว่าการรักษาโดยวิธีนี้มีประสิทธิภาพและได้ผลดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ
การรักษาด้วย FMT เป็นวิธีการที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ข้อบังคับในระดับสากล ดังนั้นการกําหนดรายละเอียดในวิธีการนํา FMT มาใช้รักษาจึงแตกต่างกัน เช่น ตัวอย่างจาก Amsterdam Protocol ระบุว่า อุจจาระที่นํามาใช้ต้องได้มาใหม่ ไม่เกิน 6 ชั่วโมง โดยใช้อย่างน้อย 150 กรัม ใส่ในน้ำเกลือความเข้มข้นร้อยละ 0.9 ที่ฆ่าเชื้อแล้ว ปริมาณ 500 มิลลิลิตร แล้วกรองให้ได้สารที่เป็นเนื้อเดียวกัน หรือบางแห่งกําหนดว่าผู้ให้อุจจาระต้องไม่ได้รับยาปฏิชีวนะภายใน 12 อาทิตย์ก่อนหน้า ไม่มีประวัติการผ่าตัดระบบทางเดินอาหาร และไม่มีการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะมีรายงานที่แสดงถึงผลดีของ FMT ในผู้ป่วย และมีผู้นําไปใช้อย่างแพร่หลาย แต่อย่างไรก็ตามยังจะต้องประเมินประสิทธิผลและศึกษาความปลอดภัยจากกลุ่มตัวอย่างทดสอบด้านคลินิกโดยมีตัวควบคุมอย่างพอเพียง
ที่มา:
https://horizon-magazine.eu/article/antibiotic-resistance-how-did-we-get-here.html? fbclid=IwAR0BQcqyl5rctUGvXCYj7g0wchwWga_n2-ddR15N12BUKeYUjhgYupDsWyA
www.pharmacy.mahidol.ac.th/