Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นวัตกรรมที่มาจากยาน Apollo

Posted By Rezonar | 24 ก.พ. 63
15,914 Views

  Favorite

"นั่นคือก้าวเล็ก ๆ ของคนคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” คือคำพูดแรกของนีล อาร์มสตรอง ทันทีที่เขาก้าวยืนบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1969 เขาเป็นมนุษย์โลกคนแรกที่ได้เหยียบลงบนดวงจันทร์ มีประชากรกว่า 650 ล้านคนร่วมเป็นพยานผ่านการถ่ายทอดสดทั่วโลก

ภาพ : Shutterstock

 

เหตุใดการส่งมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์จึงมีความสำคัญกับสหรัฐอเมริกามากมายนัก?

 

นั่นก็เพราะว่า คู่แข่งของอเมริกาในยุคนั้น คือสหภาพโซเวียต มีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีอวกาศที่สูงมาก สามารถส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 นอกจากนี้ ใน ค.ศ. 1961 สหภาพโซเวียตยังสามารถส่งนักบินขึ้นสู่ห้วงอวกาศได้เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย ประชาชนชาวอเมริกาจึงรู้สึกพ่ายแพ้ทางด้านเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้เอง “โครงการอพอลโล” จึงได้ถือกำเนิดขึ้น

 

หากลองจินตนาการ การเดินทางจากโลกไปดวงจันทร์ที่มีระยะทางทั้งสิ้น 384,400 กิโลเมตร การคำนึงถึงเชื้อเพลิง ขนาด และน้ำหนักของห้องโดยสาร ในการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะสุขลักษณะของนักบินด้วย ทั้งหมดนี้ นำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ให้สามารถใช้งานในห้วงอวกาศอย่างเหมาะสม และยังส่งผลดีกับอีกหลายล้านชีวิตบนโลกในเวลาต่อมา ลองมาดูกันว่า มีของใกล้ตัวชิ้นไหน ที่ถูกต่อยอดมาจากเทคโนโลยีทางอวกาศนั้นบ้าง

 

1. อาหารแห้ง

ในช่วงโครงการ Mercury อาหารของนักบินอวกาศจะอยู่ในรูปแบบหลอด, แป้งอัดก้อนขนาดพอดีคำ หรือเป็นลักษณะผง ถึงแม้รสชาติจะไม่แย่นัก แต่ก็มีเมนูไม่หลากหลาย และนักบินอวกาศต่างให้ความเห็นว่า เศษผงหล่านั้นอาจตกลงไปในเครื่องมือและสร้างความเสียหายได้ ดังนั้น เมื่อถึงโครงการ Apollo นาซาก็ได้พัฒนารูปแบบอาหารขึ้นใหม่ที่เรียกว่า Rehydrate Foods หรืออาหารแห้งนั่นเอง เวลาจะรับประทาน ก็เพียงใส่น้ำร้อนลงไป โดยมีเมนูให้เลือกหลากหลายขึ้น และรสชาติที่ดีขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน เราสามารถทานอาหารของมนุษย์อวกาศยุค Apollo ได้ง่าย ๆ เพียงเดินไปซื้อในซูเปอร์มาเก็ตนั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

2. The Dustbuster

เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีหลังจากการไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรกของมนุษย์ เครื่องดูดฝุ่นไร้สายก็ออกวางจำหน่ายครั้งแรก หากแต่จุดประสงค์ที่แท้จริงของการคิดค้นเจ้าเครื่องที่ว่านี้ ก็เพื่อใช้ในการเจาะและดูดเพื่อเก็บตัวอย่างหินและดินจากผิวดวงจันทร์ โดยตัวเครื่องต้องมีขนาดเล็ก พกพาง่าย และใช้แบตเตอรีในตัวได้ จึงนับได้ว่าเครื่องดูดฝุ่นไร้สายก็เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นผลพลอยได้จากการสำรวจดวงจันทร์ของ Apollo

ภาพ : Shutterstock

 

3.Nike Airs

ในขั้นตอนการผลิตหมวกป้องกันของนักบินอวกาศในยุค Apollo นั้น จะใช้กระบวนการขึ้นรูปที่เรียกว่า การเป่าขึ้นรูปยาง หรือ Blow rubber Molding เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สร้างความรู้สบายในการสวมใส่ และการปกป้องที่สุดยอด และเทคโนโลยีนี้ก็ถูกนำมาปรับใช้กับรองเท้าสุดแกร่งที่รู้จักกันดีในชื่อ Nike “Air” โดยสร้างช่องว่างและบรรจุแก๊สลงไป และห่อหุ้มบริเวณโดยรอบด้วยวัสดุจำพวกยางอีกชั้นหนึ่ง เป็นที่มาของรองเท้าสุดแกร่งรุ่นนี้นั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

4. ยางรถยนต์สำหรับวิ่งในฤดูหนาว (Studless Winter Tires)

ธรรมชาติของยางรถยนต์นั้นจะมีความสามารถในการยึดเกาะพื้นถนนได้ มิเช่นนั้นจะไม่สามารถทรงตัวได้เลย แต่ถ้าหากอุณหภูมิของผิวถนนต่ำลง ความอ่อนนุ่มของหน้ายางก็จะหายไป นั่นหมายถึงความสามารถในการยึดเกาะก็จะหมดไปด้วยเช่นกัน

 

ในภารกิจ Apollo14 นาซาได้พัฒนายางชนิดพิเศษขึ้น เพื่อใช้เป็นพาหนะขนส่งในระหว่างการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ที่มีอุณภูมิต่ำมาก โดยที่หน้ายางจะยังรักษาความอ่อนนุ่มไว้ได้ แม้ถูกใช้งานบนพื้นผิวที่อุณภูมิต่ำจนถึงจุดเยือกแข็ง และนี่เอง เป็นที่มาของยางรถยนต์สำหรับใช้ในฤดูหนาว

ภาพ : Shutterstock

 

5. LVAD

เครื่อง LVAD (Left Ventricular Assist Device) หรือเครื่องหัวใจเทียม มีส่วนประกอบหลักคือตัวปั๊มเลือดและใบพัด ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดให้เลือดหมุนเวียนในร่างกาย และสามารถช่วยชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก แต่ทราบไหมครับว่าที่มาของเครื่องนี้ได้รับการพัฒนามาจากต้นแบบคือ เทอร์โบปั๊มที่ใช้สำหรับเครื่องยนต์ของจรวด ที่ใช้ในภารกิจ Apollo นั่นเอง

ภาพ : Shutterstock

 

6. ผ้าทนไฟและเสื้อคลายร้อน

 

ในระหว่างการฝึกซ้อมของโปรแกรม Apollo 1 ในปี ค.ศ. 1967 ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ ส่งผลให้นักบินเสียชีวิตถึง 3 คน ด้วยเหตุนี้ นาซาจึงได้พัฒนาผ้าทนไฟชนิดใหม่ขึ้นมา สำหรับใช้ในภารกิจที่เหลือทั้งหมด

 

ในปัจจุบัน เส้นใยทนไฟเหล่านี้ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายสำหรับสร้างหลังคาสนามกีฬาทรงโดมหลาย ๆ แห่ง ยกตัวอย่างเช่น จอร์เจียโดม (Georgia Dome, USA) ที่ผ่านการเผชิญกับพายุทอร์นาโดที่มีความเร็วถึง 217 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ก็ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ภาพ : Shutterstock

 

7. สารเคลือบป้องกันการเกิดฝ้าบนกระจก

ในปัจจุบัน หน้ากากที่ใช้ในการดำน้ำ แว่นสำหรับเล่นสกี หรือแว่นตาบางรุ่น ได้รับการเคลือบสารชนิดพิเศษ สำหรับป้องกันการเกิดฝ้าที่กระจก ซึ่งสารเคลือบนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาในโปรเจ็กต์ Apollo สำหรับใช้กับกระจกแคปซูลอวกาศ และกระจกป้องกันด้านหน้าของหมวกนักบินอวกาศ

ภาพ : Shutterstock

 

8. ผ้าห่มอวกาศช่วยชีวิตผู้ประสบภัย

นาซาพัฒนาแผ่นกันความร้อนชนิดพิเศษขึ้นมา ใช้ห่อหุ้มยานส่วนที่ลงจอดบนดวงจันทร์เพื่อป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ โดยเจ้าแผ่นกันความร้อนนี้ มีลักษณะสะท้อนแสงและดูแวววาว

 

ในปัจจุบัน แผ่นสะท้อนแสงได้ถูกใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับผู้ประสบภัย และยังใช้สำหรับคลุมตัวนักกีฬา เพื่อไม่ให้ร่างกายสูญเสียความร้อนในร่างกายสู่สภาพแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่ภาวะอุณภูมิร่างกายต่ำผิดปกติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเราอาจได้ยินชื่อเรียกผ้าคลุมนี้ว่า “ผ้าคลุมอวกาศ”

ภาพ : Shutterstock

 

ทั้งหมดคือตัวอย่างของการนำสิ่งที่ได้รับการพัฒนาเพื่อใช้ในอากาศยาน มาสู่การใช้งานในชีวิตประจำวัน ถ้าหากย้อนกลับไปที่คำพูดของนีล อาร์มสตรอง นั่นอาจเป็นก้าวกระโดดที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติจริง ๆ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow