Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อุปกรณ์เก็บข้อมูลแห่งโลกอนาคต

Posted By Rezonar | 21 ก.พ. 63
11,932 Views

  Favorite

หากเย็นนี้คุณผู้อ่านตั้งใจอยากซื้อสมาร์ทโฟนใหม่สักเครื่อง หรือคอมพิวเตอร์ใหม่สักเครื่อง สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นข้อพิจารณาในการเลือกซื้ออย่างเลี่ยงมิได้ก็คือ พื้นที่หน่วยความจำภายใน

 

ประวัติศาสตร์ของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล

หากย้อนกลับไปในสมัยก่อน รูปแบบของพื้นที่จัดเก็บข้อมูลจะใช้สายสัญญาณในการเชื่อมต่อ ในส่วนพื้นที่เก็บข้อมูลเองจะใช้จานกลมแข็งที่ฉาบด้วยสารแม่เหล็กที่สามารถลบและเขียนใหม่ได้ และจำรูปแบบอยู่ได้เป็นเวลาหลายปี และเนื่องจากลักษณะกลมแข็งของจานที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูล มันจึงถูกเรียกว่า ฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) โดยฮาร์ดดิสก์ในสมัยแรกนั้น มีความจุเพียง 1 เมกะไบต์เท่านั้น และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของจานถึง 20 นิ้ว ก่อนจะเริ่มมีการพัฒนาทำให้มีขนาดเล็กลง และเก็บข้อมูลได้มากขึ้นมาเป็นลำดับ

ภาพ : Shutterstock

 

ในปัจจุบัน รูปแบบของการเก็บข้อมูลได้รับการพัฒนามาเป็นอย่างมาก จากการใช้แม่เหล็กในการบันทึกก็เปลี่ยนรูปแบบเป็น 3D Stack โดยการประยุกต์ความรู้เรื่องสารกึ่งตัวนำ (Semi-Conductor) มาสร้างชุดทรานซิสเตอร์จำนวนมากเรียงต่อกันในวงจรรวม ทำให้อุปกรณ์เก็บความจำรุ่นใหม่ ๆ นั้น มีความสามารถในการเขียนอ่านข้อมูลที่รวดเร็ว มีความจุที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล แต่มีขนาดเล็กมาก

ภาพ : Shutterstock

 

อุปกรณ์เก็บข้อมูลแห่งโลกอนาคต บนพื้นฐานที่เก่าแก่ที่สุดของสิ่งมีชีวิต

สารพันธุกรรมหรือ ดีเอ็นเอ (deoxyribonucleic acid; DNA) เป็นกรดชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต แต่ใครจะคาดคิดว่า วันหนึ่งดีเอ็นเอจะถูกพัฒนามาเป็นหน่วยเก็บข้อมูลอย่างอื่นได้ด้วย โดยทางผู้พัฒนา ได้สร้างดีเอ็นเอสังเคราะห์และสำเร็จรูป มีความซับซ้อนและขนาดความยาวน้อยกว่าดีเอ็นเอของมนุษย์ แต่ใช้ในปริมาณที่มากขึ้นก็จะสามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้น

 

การใช้ดีเอ็นเอเป็นทางเลือกในการจัดเก็บข้อมูลอาจฟังดูแปลก เพราะในเมื่อปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอยู่มาก การเลือกใช้ดีเอ็นเอจึงดูเหมือนการก้าวถอยหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ตัวมันเองก็มีขนาดกะทัดรัด มีความเสถียรทางเคมี อีกทั้งยังเป็นรากฐานของชีววิทยาของโลกของเราอีกด้วย

ภาพ : Shutterstock

 

สำหรับการเข้าถึงข้อมูลในแต่ละครั้ง จะใช้หลักการเดียวกับฮาร์ดดิสก์ คือมีการกำหนดแอดเดรส (address) ผู้ใช้งานจึงไม่ต้องกังวลว่าหากมีข้อมูลจำนวนมากแล้ว จะต้องใช้เวลายาวนานจนกว่าจะหาข้อมูลได้เหมือนแถบเทปแม่เหล็กที่ใช้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมเมื่อราว 50 ปีก่อน ความเร็วในการเขียนข้อมูลลงไปในปัจจุบัน (2019) ทำได้ 4 เมกะบิตต่อวินาที ซึ่งเป็นความเร็วที่ยังช้ากว่าความสามารถของสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบันอยู่พอสมควร และทางผู้พัฒนาเองก็คาดหวังที่จะพัฒนาให้ความเร็วเพิ่มขึ้นได้อีก 1,000 เท่าเลยทีเดียว

 

สู่การใช้งานจริง

ถึงแม้การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดีเอ็นเอจะยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาโดยบริษัท Catalog และยังไม่ได้เปิดให้ใช้แพร่หลายโดยผู้ใช้งานทั่วไป แต่หนึ่งในหุ้นส่วนของบริษัทดังเช่น Arch Mission Foundation ซึ่งมีโครงการที่จะบันทึกความรู้ทั้งหมดของมวลมนุษยชาติเอาไว้ มิใช่เพียงบนโลก แต่รวมไปถึงที่ต่าง ๆ ในระบบสุริยะอีกด้วย การจัดเก็บข้อมูลบนดีเอ็นเอก็เป็นวิธีที่เลือกใช้สำหรับโครงการนี้ ซึ่งในปัจจุบัน ข้อมูลทั้งหมดของเว็บไซต์วิกิพีเดีย (Wikipedia) ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษ ก็สามารถจัดเก็บเอาไว้ได้สำเร็จ โดยใช้เนื้อที่ทั้งหมด 16 กิกะไบต์

ภาพ : Wikipedia

 

ถึงแม้ว่าข้อมูลบนดีเอ็นเอ จะถูกรบกวนได้จากรังสีคอสมิก (cosmic rays) แต่ทางผู้ผลิตก็ให้การยืนยันว่า เป็นวิธีที่มีความเสถียรมากกว่าวิธีการจัดเก็บข้อมูลประเภทอื่น และถ้าหากยังไม่สบายใจนัก ผู้เขียนอยากให้ลองจินตนาการว่า แม้แต่สัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ยังสามารถเก็บรักษาดีเอ็นเอของพวกมันไว้ได้ ในขณะที่ USB แฟลชไดร์ฟที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ อีก 25 ปีข้างหน้า ก็ยังไม่แน่ว่าจะเป็นที่นิยมในการใช้งานอยู่หรือไม่ และความนิยมในการใช้งานจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow