ธรรมชาติของร่างกายคนเราจะมีเซลล์สร้างเม็ดสีที่อยู่ใต้ผิวหนัง ซึ่งเซลล์ตัวนี้จะอยู่ใต้เส้นผมคอยทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีดำให้ผมของเราไม่ขาว ที่ผิวหนังก็จะมีเซลล์ตัวนี้เหมือนกัน แต่จะเป็นสีขาวหรือสีคล้ำต่างกันไปตามกรรมพันธุ์ แต่วันหนึ่งเมื่ออายุเรามากขึ้น เซลล์สร้างเม็ดสีตัวนี้ก็จะทำงานได้ไม่ค่อยดี เสื่อมสภาพลงไปตามวัย จากผมที่เคยดำก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาว หรือที่เราเรียกว่า ‘ผมหงอก’ นั่นเอง
สำหรับคนเอเชียอย่างเรา ถ้ามีผมหงอกก่อนอายุ 25 ปี ก็จะถือว่าผมหงอกก่อนวัย แต่คนที่มีผมหงอกก่อนวัยเกิดจากอะไรล่ะ
• กรรมพันธุ์ ผมหงอกเป็นยีนส์เด่น ถ้าใครมีพ่อหรือแม่ที่มีผมหงอกเยอะ เราก็จะมีผมหงอกก่อนวัยได้
• โรคอ้วน สูบบุหรี่ สองอย่างนี้จะกระตุ้นให้มีผมหงอกก่อนวัยได้
• ขาดธาตุเหล็ก เช่น จากการบริจาคเลือด ก็จะทำให้เกิดผมหงอกได้
• ความเครียด กระตุ้นให้ผมหงอกได้จริง
อย่าไปดึง เดี๋ยวผมหงอกขึ้นเยอะ ! เป็นความเชื่อแบบไทย ๆ ที่เราได้ยินกันมาตลอด ความจริงยังไม่มีงานวิจัยออกมาฟันธงว่าถ้าเราดึงผมหงอก แล้วผมรอบ ๆ ก็จะเริ่มหงอกไปด้วย แต่เราได้ไปฟัง Podcast จากรายการ Being Single ของหมอผิง-พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล ร่วมกับหมอแม้ว-พญ.ศกุนี นิรันดร์วิชย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเส้นผม หมอแม้วบอกว่า ความจริงก็มีความเป็นไปได้ ที่เมื่อดึงผมหงอกแล้วก็จะมีผมหงอกเกิดตามมาอีก เพราะเหมือนเราไปกระตุ้นให้ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ มีเม็ดสีหายไปด้วย ทำให้เมื่อถอนผมหงอกออกไปหนึ่งเส้น ก็อาจจะเกิดผมหงอกอีกหลาย ๆ เส้นตามมา เนื่องจากเม็ดสีบริเวณนั้นถูกกระตุ้นให้เป็นสีขาว แต่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีภาวะโรคทางผิวหนังเท่านั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนะ
มาถึงตรงนี้เราก็คงเข้าใจกันบ้างแล้วว่า การมีผมหงอกเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีการรักษาถาวร มีแต่การป้องกัน ชะลอให้มันเกิดช้า ๆ เท่านั้น และการดึงผมหงอกก็ไม่ใช่การรักษาที่ดีเลย แต่เป็นการทำเพื่อความสบายใจเท่านั้น ทางที่ดีควรจะใช้กรรไกรตัดตรงโคนจะดีกว่าค่ะ เพราะยิ่งดึง ยิ่งถอนก็ยิ่งจะทำให้เกิดการอักเสบรอบหนังศีรษะ อนาคตอาจทำให้ผมขาด หลุดร่วง ผมบางมากขึ้น
สรุปแล้ว ถ้าอายุน้อยกว่า 25 ปี และมีผมหงอกเล็กน้อย ไม่ใช่ทั้งหัว ก็คือไม่ผิดปกติ เป็นเรื่องธรรมชาติ แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อลดความเครียดที่ทำให้เกิดผมหงอก และหากรู้สึกไม่มั่นใจที่มีผมหงอกโผล่ขึ้นมาทักทายก็แค่ตัดผมหงอกที่โคนผม ไม่ดึง ไม่ถอนจะดีกว่าค่ะ