ถ้ำ หมายถึง โพรงหรือช่องที่ลึกเข้าไปในภูเขาหรือพื้นดิน มีทางน้ำเข้าและทางน้ำออก โดยมีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่พอที่มนุษย์จะเข้าไปสำรวจได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การถูกคลื่นโถมซัดปะทะหน้าผาบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นเวลานาน การเกิดภูเขาไฟระเบิด หรือการยกตัวของแผ่นเปลือกโลกทำให้มีน้ำไหลออกมาและเกิดเป็นทางน้ำใต้ดินกัดเซาะภูเขาหรือพื้นดินบริเวณนั้น ๆ ทั้งนี้ภายในถ้ำบางแห่งอาจมีหินงอกหินย้อยเพิ่มความสวยงามภายในถ้ำอีกด้วย
ถ้ำแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ตามลักษณะการเกิด ได้แก่
1. ถ้ำหินปูน (Solution cave หรือ (Limestone cave)
2. ถ้ำน้ำแข็ง (Glacier cave)
3. ถ้ำลาวา (Lava cave)
4. ถ้ำตามชายฝั่งทะเล (Sea cave)
ตัวอย่างของถ้ำประเภทต่าง ๆ เช่น ถ้ำอัญมณี (Jewel cave) ในสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากน้ำพุร้อนใต้ดิน ถ้ำโมวิล (Movile) ในโรมาเนียที่เกิดจากสารละลายของกรดซัลฟิวริก ถ้ำวาตนาเยอคูล (Vatnajokull) ในไอซ์แลนด์ที่เกิดจากธารน้ำแข็ง หรือถ้ำคาซามูรา (Kazamura) ในฮาวายที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวา
สำหรับถ้ำที่พบมากในประเทศไทยเป็นถ้ำหินปูน โดยกระบวนการเริ่มจากการสะสมของตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ซึ่งอยู่ในน้ำทะเล จากนั้นตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตจะแข็งตัวและกลายเป็นหินปูน เมื่อเปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลง พื้นที่บริเวณที่มีตะกอนคาร์บอเนตจะยกตัวขึ้นเป็นแผ่นดิน หากมีฝนตกลงมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศ จะรวมกับน้ำฝน เกิดเป็นกรดคาร์บอนิก (H2CO3) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนและซึมลงสู่ใต้ดิน กรดอ่อนนี้จะแทรกซึมไปตามรอยร้าวของพื้นที่ที่เกิดจากตะกอนคาร์บอเนต และทำละลายหินปูนคาร์บอเนตได้เป็นอย่างดี จึงเกิดการกัดกร่อนจนเป็นโพรงถ้ำ เรียกว่า ถ้ำจิ๋ว (micro-cave)
เมื่อเวลาผ่านไป ถ้ำจิ๋วจะถูกกัดกร่อนจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ผิวหินปูนคาร์บอเนตมีการสัมผัสกับกรดคาร์บอนิกมากขึ้น การกัดกร่อนยิ่งเร็วขึ้น กระทั่งกลายเป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่ในที่สุด
บทความที่เกี่ยวข้อง
- กระบวนการเกิดหินงอกหินย้อย