การเรียนการสอนด้านแพทยศาสตร์นับว่าเป็นอีกหนึ่งศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากผู้เรียนมาอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งหลายคนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีไปแล้วก็ยังมีความสนใจที่ศึกษาในศาสตร์ด้านนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเตรียมเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตนานาชาติ หรือ The Chulalongkorn International Medical Program ที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ ที่สนใจจะศึกษาด้านแพทยศาสตร์ได้เลือกศึกษาในหลักสูตรนี้
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุคณบดีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงที่มาที่ไปของการเปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตนานาชาติสำหรับผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีว่า รูปแบบของหลักสูตรนี้จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับหลักสูตรแพทยศาสตร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่อยากเรียนแพทย์ มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษและมีศักยภาพได้มีโอกาสเข้าศึกษา ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง ศ.นพ.สุทธิพงศ์ มองว่าช่วงอายุที่โตขึ้นของผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจะมีเป้าหมายและการตัดสินใจลือกเรียนที่มั่นคงมีความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์อย่างแท้จริง ซึ่งในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เปิดรับผู้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มีศักยภาพและความพร้อมในการต่อยอดความรู้ทางแพทยศาสตร์
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าวถึงเป้าหมายในปัจจุบันของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มุ่งเติบโตและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ ในระดับเอเชียไปจนถึงในระดับโลก การเปิดหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรนานาขาติจะเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตชาวต่างขาติที่สนใจมาร่วมหลักสูตรด้วยทั้งนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ระดับนานาชาติของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังจะช่วยให้นิสิตมีทักษะการสื่อสารด้านภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงวิชาการระดับนานาชาติอีกด้วย
อีกหนึ่งจุดเด่นของหลักสูตรนี้คือการเป็นหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตนานาชาติหลักสูตรแรกในไทยที่สามารถสำเร็จการศึกษาได้ในระยะเวลา 4 ปี และยังมีรูปแบบการเรียนการสอนแบบการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนในยุคสมัยนี้ ที่สามารถค้นคว้าความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยคณาจารย์จะทำหน้าที่ช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกับนิสิต ซึ่งเรียกว่าเป็น หลักการเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ (Adult Learning) โดยนิสิตในหลักสูตรนี้จะได้มีประสบการณ์ทางคลินิกตั้งแต่ภาคการศึกษาแรกของการเรียน
ด้วยข้อได้เปรียบที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยมีโรงพยาบาลเครือข่ายที่มีศักยภาพสอดคล้องกับยุทธศาสตร์คือ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)
ศ.นพ.สุทธิพงศ์ จึงมองว่า การขยายฐานการให้บริการทางการแพทย์และการเรียนการสอนมาที่โรงพยาบาลเครือข่ายแห่งนี้จะมีส่วนช่วยให้นิสิตแพทย์ได้ฝึกฝนทักษะการรักษาโรคที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไปเหมือนที่พบในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการมีปฏิสัมพันธ์กับชาวต่างชาติมากขึ้นด้วย และมีช่วงเวลาที่นิสิตจะได้มีโอกาสไปศึกษายังมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาอีกเป็นเวลา 2 - 6 เดือนในชั้นปีสุดท้าย
การเปิดหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตนานาชาติในปีการศึกษานี้นับว่าอีกหนึ่งก้าวของการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ จุหลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพทางวิชาการในระดับโลก ขณะเดียวกัน การสร้างความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะยังช่วยทำให้นิสิตได้รับประสบการณ์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กว้างกว่าวิชาการในระดับประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้บัณฑิตคณะแทยศาสตร์มีศักยภาพที่จะพร้อมรับใช้สังคมได้อย่างก้าวทันความเปลี่ยนเปลงของโลกในยุคปัจจุบัน