ปัจจุบันนี้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับด้านอาหารพัฒนาไปไกลมากขึ้น ดังนั้น จึงมีการผลิตสารชนิดหนึ่ง ที่ใส่ลงไปหมักในเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ แล้ว จะทำให้เนื้อสัตว์มีความนุ่มขึ้น แต่หลายคนอาจจะไม่ชอบใส่สารเคมีลงไปในอาหาร จึงเลือกวิธีการทางธรรมชาติโดยการใส่น้ำสับปะรดลงไปหมักพร้อมกับเนื้อสัตว์ ซึ่งจะทำให้เนื้อสัตว์มีความนุ่มมากขึ้น หรือใครที่เคยทำเมนูหมูสะเต๊ะอาจจะเคยเห็นวิธีการหมักเนื้อโดยใช้น้ำสับปะรดเป็นตัวช่วยทำให้หมูนุ่ม แทนการใช้สารเคมีหมักเนื้อ
โดยสับปะรดที่เรารับประทานกันทั่วไปนั้นเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยนิยมปลูก เพราะเป็นพืชที่ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้งได้ดี เนื้อของสับปะรดจะมีสีเหลือง ฉ่ำน้ำ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว และมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งชื่อว่า เอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยย่อยอาหารประเภทโปรตีนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแกนกลางของสับปะรดจะมีเอนไซม์โบรมีเลนปริมาณมาก ดังนั้น ในสมัยก่อนจึงนิยมนำน้ำสับปะรดมาใช้ในการหมักเนื้อประเภทต่าง ๆ เพื่อให้เอนไซม์โบรมีเลนช่วยย่อยโปรตีนในเนื้อ จึงทำให้เนื้อมีความนุ่มขึ้นนั้นเอง แต่ถ้าหากใช้ระยะเวลาในการหมักนานเกินไปอาจจะทำให้เนื้อเปื่อยยุ่ยจนเกินไปได้
เอนไซม์โบรมีเลนนี้มีคุณสมบัติเหมือนกับเอนไซม์พาเพน (Papain) ในมะละกอ คือมีฤทธิ์เป็น proteolytic enzyme (เอนไซม์ย่อยโปรตีน) ซึ่งในยางของมะละกอจะมีเอนไซม์อยู่ 4 ชนิด ได้แก่ papain, chymopapain A, chymopapain B และ papaya peptidase A โดยเอนไซม์ chymopapain เป็นชนิดที่มีความอยู่ตัว ทนต่อสภาพแวดล้อมทั้งความร้อนและสภาพที่เป็นกรด และยังเป็นเอนไซม์ชนิดสำคัญในมะละกอที่ทำให้เนื้อมีความนุ่ม ซึ่งเอนไซม์เหล่านี้สามารถพบได้ในยางของมะละกอ โดยเฉพาะส่วนใบ ก้าน และผลมะละกอดิบ