หลายคนคงทราบกันดีว่างบประมาณของไทยถูกใช้จ่ายไปกับการพัฒนาการศึกษามากที่สุด และหลายคนคงตั้งคำถามต่อไปอีกว่า ทำไมเราทุ่มงบพัฒนาการศึกษากว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี หรือเรียกได้ว่าติดท็อปประเทศที่ใช้งบการศึกษามากที่สุดในโลก แต่ผลลัพธ์และคุณภาพที่ได้ก็ยังคงรั้งท้ายในอาเซียน ? แล้วถ้าเราอยากให้ประเทศไทยพัฒนาไปไกลขึ้นกว่านี้ ต้องเริ่มพัฒนาที่จุดไหน ?
เมื่อเร็ว ๆ นี้ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ร่วมแชร์มุมมองที่น่าสนใจต่อการพัฒนาประเทศอย่างตรงจุด การมองอนาคตในอีก 20 ปี ต้องทำอย่างไรให้ประเทศไทยวิ่งทันโลก และไทยจะต้องโฟกัสอะไรก่อน ภายในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ Digital for education จัดขึ้นโดยสำนักการศึกษา โดยมีมุมมองที่น่าสนใจดังนี้
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การพัฒนาประเทศคือการมองการณ์ไกลไปข้างหน้า และการเตรียมพร้อมติดอาวุธให้บุคลากรเพื่อเดินหน้าประเทศ ซึ่งกลุ่มคนที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า ก็คือเด็กเล็กที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นอนุบาล – ประถมศึกษาทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทุ่มงบประมาณ และทรัพยากรเพื่อพัฒนากลุ่มคนเหล่านี้ เด็กเล็กต้องได้รับสารอาหารที่ดีที่สุด ต้องได้เรียนกับครูที่เก่งที่สุดตั้งแต่อนุบาล เพื่อพัฒนาการของร่างกายและสมองที่สมบูรณ์แข็งแรงควบคู่กัน เมื่อเราโฟกัสกับการพัฒนาเด็กเล็กอย่างเต็มที่ จนเด็กอนุบาล - ประถมศึกษาของไทยมีความสามารถแข่งขันกับเด็กสิงคโปร์ จีน หรือญี่ปุ่นได้ นั่นแปลว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว จากนั้นต้องเดินหน้าโฟกัสการพัฒนาเด็กกลุ่มมัธยมต่อไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาที่คนเหล่านี้เติบโตอย่างเต็มที่ ประเทศเราจะมีบุคลากรคุณภาพที่พร้อมจะผลักดันประเทศอย่างไม่หยุดยั้ง
“การพัฒนาประเทศเปรียบเสมือนการวิ่งแข่ง นักกีฬาวิ่งที่ต้องการเป็นแชมป์โลก ต้องมองไปยังสถิติของคู่แข่งที่เหนือกว่า และพยายามวิ่งเพื่อทำลายสถิตินั้น การศึกษาไทยก็เช่นกัน เราต้องเปรียบเทียบตัวเองกับประเทศที่การศึกษาดีเป็นอันดับต้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี
ยกตัวอย่างประเทศที่การศึกษามาแรงอย่างมาเลเซีย เขามีเป้าหมายต้องการพัฒนาการศึกษาเทียบชั้นสิงคโปร์เท่านั้น เพราะฉะนั้นเขาจึงโฟกัสไปที่สิงคโปร์อย่างเดียว ไม่แข่งขันกับไทยหรือประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน การตั้งเป้าหมายสูงในการพัฒนาทำให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างดีที่สุด ปัจจุบันการศึกษาของมาเลเซียมาแรงเป็นอันดับสองในอาเซียน เป็นรองเพียงแค่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียจึงถือเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาการศึกษา”
ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มว่า ในโอกาสครบรอบ 60 ปี สจล. ในปี 2563 จึงถือโอกาสเปิดตัวโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก” หรือ Kids University By KMITL ไร้ขีดจำกัด เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้มีความพร้อมในการเรียนรู้ และได้รับทักษะที่เหมาะสมต่อการสร้างพัฒนาการที่ดี โดยเน้นไปที่ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชนที่ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาของชาติที่ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กปฐมวัย อายุระหว่าง 4 - 12 ปี เพื่อให้เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้และสามารถต่อยอดไปกับการจัดการศึกษาสมัยปัจจุบัน
โครงการ “มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก” หรือ Kids University By KMITL แบ่งออกเป็น 4 หลักสูตรตามช่วงอายุ ได้แก่ หลักสูตร 1 การค้นหาความสามารถพิเศษ (Talent Finder) สำหรับเด็กเล็ก, หลักสูตรที่ 2 Online Master Class สำหรับทุกช่วงวัย, หลักสูตร 3 Short courses for transfer and credits collection in Credit Bank Program สำหรับมัธยมต้นและมัธยมปลาย และหลักสูตร 4 Short courses as Non-credit course (certification) สำหรับทุกช่วงวัย โดยช่วงแรกจะเปิดอบรมเฉพาะหลักสูตรที่ 1 ระหว่างวันที่ 11 มกราคม จนถึง 22 กุมภาพันธ์ 2563 แบ่งเป็นการจัด 3 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงเช้าของวันเสาร์ ที่ 1, 15 และ 22 กุมภาพันธ์ 2563 สำหรับเด็กอายุ 4 - 6 ปี ครั้งละไม่เกิน 100 คน ฐานละไม่เกิน 50 – 60 คน และจะแบ่งย่อยไปเรียนแต่ละกิจกรรม 15-20 คน
การยกระดับขีดความสามารถของเด็กไทยผ่านโครงการ “มหาวิทยาลัยเด็กเล็ก” หรือ Kids University By KMITL จะมีส่วนช่วยส่งเสริมบุคลากรคุณภาพให้แก่ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า และ สจล. เชื่อว่าการที่ทุกภาคส่วนทุ่มเทพลังให้กับการพัฒนาเด็กรุ่นใหม่อย่างเต็มความสามารถในวันนี้ จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่ประเทศไทยในอนาคต ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย