Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ออโรรา (aurora) หรือแสงเหนือเกิดขึ้นได้อย่างไร

Posted By Rezonar | 16 ธ.ค. 62
33,644 Views

  Favorite

หลาย ๆ คนคงคุ้นเคยกับชื่อปรากฏการณ์ออโรราหรือแสงเหนือ (Aurora bearlis หรือ Northern Lights) กันมาบ้างแล้ว แต่เคยสงสัยหรือไม่ ว่า ออโรราเกิดจากอะไร ทำไมจึงมีรูปร่างและสีที่แตกต่างกัน และสถานที่ใดบ้างที่สามารถสังเกตปรากฏการณ์นี้ได้

ภาพ : Shutterstock

 

ออโรราเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 นักวิทยาศาสตร์สังเกตพบปรากฏการณ์บางอย่างจากดวงอาทิตย์ เป็นปื้นสว่างในย่านแสงที่ตามนุษย์มองเห็น (visible, optical, white light) ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า การลุกจ้าของดวงอาทิตย์ (Solar Flare) นอกจากนี้ยังมีรายงานการค้นพบออโรรา (aurora) บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างประเทศคิวบา รวมไปถึงค้นพบความปั่นป่วนในสนามแม่เหล็กอีกด้วย ซึ่งในเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปรากฏการณ์ทั้งหมดเกี่ยวข้องกัน แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

 

การลุกจ้าของดวงอาทิตย์ (solar flare) เป็นชื่อเรียกปรากฏการณ์การปลดปล่อยพลังงานอย่างรวดเร็วในสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ พลังงานจะถูกปลดปล่อยออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเกือบทุกย่านความถี่ ตั้งแต่คลื่นที่มีความยาวคลื่นยาวอย่างคลื่นวิทยุ (radio wave) แสงที่ตามนุษย์มองเห็น (optical light)  รังสีเอกซ์ (X-rays) ไปจนถึงคลื่นที่มีความยาวคลื่นสั้นอย่างรังสีแกมมา (gamma rays) ระดับพลังงานที่ปลดปล่อยออกมา อยู่ในสัดส่วนที่ไม่เกิน 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมาใน 1 วินาที แต่ก็มากเพียงพอจะส่งผลกระทบถึงโลกของเรา

ภาพ : Shutterstock

 

โลกของเรานั้น ถูกปกป้องด้วยเกราะสองชั้น โดยชั้นนอกสุดจะเป็นสนามแม่เหล็กโลก ส่วนในชั้นถัดมาคือชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ เมื่ออนุภาคที่มีประจุซึ่งถูกปล่อยออกมาจากการลุกจ้าของดวงอาทิตย์พยายามทะลุทะลวงเกราะแม่เหล็กของโลก จึงเกิดการชนกับอะตอมและโมเลกุลในชั้นบรรยากาศของเรา ขณะที่พวกมันตกลงสู่ชั้นบรรยากาศ อิเล็กตรอนจะให้พลังงานกับโมเลกุลของออกซิเจนและไนโตรเจน ทำให้พวกมันอยู่ในสถานะโลด (Excited States) เมื่อโมเลกุลกลับสู่สภาวะปกติ พวกมันจะปล่อยโฟตอนออกมาเล็กน้อยในรูปของแสง และแสงที่มองเห็นได้นี่เอง ที่เราเรียกกันว่า ออโรราหรือแสงเหนือ

ภาพ : Shutterstock


สีที่แตกต่างกัน

สีของแสงออโรราขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซที่มาชนกันจนเกิดการคายโฟตอนและขึ้นอยู่กับระดับการแลกเปลี่ยนพลังงาน หากเป็นออกซิเจน จะเปล่งแสงสีเหลืองเขียว หรือแสงสีแดง หากเป็นไนโตรเจนจะให้แสงสีน้ำเงิน นอกจากนี้ โมเลกุลออกซิเจนและไนโตรเจนยังเปล่งแสงอัลตราไวโอเลตอีกด้วย และสามารถตรวจพบได้โดยกล้องพิเศษบนดาวเทียมเท่านั้น

ภาพ : Shutterstock

 

รูปร่างที่แตกต่างกัน

ถึงแม้ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เหตุใดรูปร่างของออโรราจึงมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเร็วของการลุกจ้า และตำแหน่งการสังเกต โดยในระยะเวลาที่สังเกต 1 คืน อาจพบลักษณะที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปได้หลายแบบ

 

ตำแหน่งที่เหมาะสมในการสังเกตออโรรา

ออโรราส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างละติจูด 60°-75° แต่ในช่วงที่เกิดพายุสุริยะขนาดใหญ่นั้น บริเวณที่เกิดออโรราจะเป็นบริเวณรูปไข่ (Oval-shape region) รอบ ๆ ขั้วแม่เหล็กของโลก จะขยายตัวในแนวเส้นศูนย์สูตร ทำให้สามารสังเกตออโรราได้ถึงช่วงละติจูดที่ 30° เลยทีเดียว ในซีกโลกเหนือพวกมันถูกเรียกว่าแสงเหนือแสงออโรรา (แสงเหนือ) และในซีกโลกใต้แสงออโรรา (แสงใต้)

 

สถานที่ที่ดีที่สุดในการชมแสงออโรรา ได้แก่ในอลาสกา แคนาดา และสแกนดิเนเวีย บางครั้งอาจมองเห็นได้ไกลถึงฟลอริดาหรือญี่ปุ่น โดยปกติแล้วแสงออโรราจะปรากฏให้เห็นอยู่หลายครั้งต่อปี แต่ในบางช่วงก็อาจไม่เกิดปรากฏการณ์นี้ เช่น อาจเกิดหนึ่งครั้งต่อทศวรรษ ก็เป็นได้

 

 

แหล่งข้อมูล
Sciencing. What Protects the Earth From Harmful Solar Flares? สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2562
NASA. Why the different color? สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2562
ThaiSpaceWeather. การลุกจ้าของดวงอาทิตย์ (Solar Flares). สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2562
Follow