“ไครโอนิกส์” (Cryonics) เป็นเทคโนโลยีที่ให้บริการโดยบริษัท Cryonics มันเป็นกระบวนการหรือวิธีการในการแช่แข็งร่างที่เสียชีวิตไปแล้ว และยังให้บริการแก่ผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ รวมไปถึงการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ โดยยังคงสภาพเซลล์เนื้อเยื่อของร่างกายอยู่เป็นระยะเวลานาน เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับโรคที่ยังไม่สามารถรักษาได้ในปัจจุบัน จึงรอความหวังที่ในอนาคตข้างหน้า วิวัฒนาการทางการแพทย์อาจก้าวหน้าพอที่จะปลุกเซลล์ที่ตายไปแล้วให้กลับมามีชีวิตใหม่ได้ ดังนั้น การเสียชีวิตจึงมิใช่จุดจบของชีวิต หากแต่กลายเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการการรักษา
ลองนึกถึงภาพยนต์ที่มีฉากการเสียชีวิตของตัวละคร อาจมีผู้ลงความเห็นโดยการจับชีพจร หรือดูที่ลมหายใจ หลังจากนั้นก็ได้ข้อสรุปว่า คน ๆ นั้นได้เสียชีวิตลงไปแล้ว
เป็นความเชื่อกันมาเนิ่นนานว่า หากชีพจรหยุดเต้นและหยุดหายใจ นั่นคือความตาย แต่ปัญหามาเกิดขึ้นในราว ทศวรรษที่ 1950-1960 เมื่อความก้าวหน้าทางการแพทย์ มีอุปกรณ์ที่สามารถปั๊มเลือดผ่านเส้นเลือดและเป่าลมเข้าไปในปอดให้หายใจได้ ทั้งที่เจ้าของร่างกายไม่สามารถทำได้ด้วยตนเองเพราะสมองตายไปแล้ว ปัญหาที่ตามมาก็คือ อวัยวะทั้งหมดอาจมิได้หยุดทำงานพร้อมกันอีกต่อไป
ในปัจจุบัน นิยามของการเสียชีวิตก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะถือว่า เมื่อสมองตาย (brain death) ก็เป็นอันว่าคนคนนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว เนื่องจากสมองเป็นตัวควบคุมสัญญาณชีพ (ลมหายใจ ชีพจร ความดันโลหิต และอุณภูมิของร่างกาย)
การทำงานของเทคโนโลยี cryonics คือ การรักษาสภาพเซลส์สมองให้คงอยู่ในสภาพที่สามารถคืนชีพขึ้นมาได้ ด้วยการแช่แข็งสมอง (มีแพ็กเกจให้เลือกว่าจะแช่เฉพาะศีรษะหรือทั้งร่างกาย) ด้วยไนโตรเจนเหลวที่อุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส จากความรู้และเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบัน เนื้อเยื่อสมองที่หยุดทำงานสามารถฟื้นขึ้นมาได้
โดยขั้นตอนการเตรียมร่างกายก่อนเข้ารับการแช่แข็งมีดังนี้
1. ทันทีที่ร่างกายเสียชีวิต ทีมงานจะพยายามกระตุ้นให้หัวใจและปอดทำงาน เพื่อรักษาระดับเลือดและออกซิเจนที่ส่งไปยังสมอง ทั้งนี้ แม้หลังจากสมองขาดเลือดประมาณ 1 ชั่วโมง เซลล์สมองจะยังสามารถฟื้นได้หลังจากหยุดทำงานไปแล้ว 8 ชั่วโมง ณ อุณหภูมิปกติ การรักษาระดับออกซิเจนและเลือดจึงสำคัญ
2. ในระหว่างการขนย้าย ร่างจะถูกแช่ด้วยน้ำแข็งเพื่อการเคลื่อนย้าย และมีการฉีดยาละลายเลือดให้จางลง
3. ที่ศูนย์ Cryonics ผู้เชี่ยวชาญจะนำของเหลวในร่างกายออก และแทนที่ด้วยสาร Human Antifreeze หรือสารต้านการเยือกแข็ง สารที่ว่านี้คือสารเคมีผสมไกลคอล เช่น เอทิลีนไกลคอล หรือโพรไพลีนไกลคอล หรือไดเมทิลซัลฟอกไซด์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้อวัยวะสามารถทนต่ออุณหภูมิต่ำได้โดยไม่เกิดผลึกน้ำแข็งซึ่งจะทำลายเซลล์เมื่อเซลล์คืนสภาพ กระบวนการต้านการเยือกแข็งนี้เรียกว่า vitrification ซึ่งไม่ได้เป็นการแช่แข็งศพ เพียงแค่คงไว้ในสภาพไร้การเคลื่อนไหว
4. ร่างถูกแช่แข็งด้วยน้ำแข็งแห้ง ภายใต้อุณภูมิ -130 องศาเซลเซียส
5. ในขั้นตอนสุดท้าย ร่างจะถูกแช่ลงในถังไนโตรเจนเหลว ภายใต้อุณภูมิ -196 องศาเซลเซียส โดยถังนั้นสามารถบรรจุได้ 4-6 ร่าง โดยจะนำศีรษะลงด้านล่าง เผื่อในกรณีที่ของถังบรรจุเกิดการรั่วไหล ศีรษะจะยังคงไม่ได้รับผลกระทบ
สิ่งที่ยากที่สุดในกระบวนการการคืนชีพก็คือ ความเร็วและรูปแบบของการละลาย ร่างกายหลังจากถูกเก็บไว้ในที่เย็น การประเมินเวลาให้ถูกต้อง เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้กระบวนการชุบชีวิตยังไม่ประสบผลสำเร็จ และหวังว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่แม่นยำเพียงพอต่อขั้นตอนการละลายนี้ได้ ซึ่งหากเทคโนโลยีนี้สามารถเป็นจริงได้ในอนาคต นิยามของคำว่าการเสียชีวิต คงจะต้องเปลี่ยนแปลงไป และมีข้อถกเถียงกันอีกมากมายในอนาคตอย่างแน่นอน
ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวของหนูน้อยวัย 14 ปี คำร้องของเธอที่มีต่อศาลนั้น ศาลได้ให้อำนาจแก่แม่ของเธอในการที่จะตัดสินใจ ซึ่งแม่ของเธอก็ยินยอมให้ร่างของลูกสาวเธอได้รับการแช่แข็งไว้อีกนานแสนนาน อย่างไรก็ดี พ่อของเธอได้คัดค้านการตัดสินใจของผู้เป็นแม่ เขากล่าวต่อศาลว่า แม้ว่าลูกสาวของเขาอาจกลับมามีชีวิตได้อีกในอนาคต อาจจะ 200 ปีข้างหน้า แต่เธอจะไม่ได้เจอคนในครอบครัวอีกเลย เธออาจถูกทิ้งให้อยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวัง แล้วเธอจะทำอย่างไร ในเมื่อเธอมีอายุเพียงแค่ 14 ปี