แม้คำศัพท์นี้จะดูใหม่ ๆ และเป็นที่ลึกซึ้ง ยิ่งใหญ่ แต่เชื่อครูพิมเถอะค่ะว่า สิ่งเหล่านี้ เป็นทักษะที่สอนและปลูกฝังได้ตั้งแต่เล็ก
จากการวิจัยของนักจิตวิทยามากว่าครึ่งศตวรรษ ทำให้พบว่า เด็กกว่าครึ่งที่ขาดทักษะ Resilience หรือความสามารถในการฟื้นตัว มีแนวโน้มที่จะมีอาการทางจิตเมื่อพบเจอกับสภาวะวิกฤตในชีวิต ดังนั้น การฝึกทักษะนี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่ควรมองข้ามอย่างยิ่งค่ะ
อย่างที่ครูพิมได้เกริ่นไปแล้วก่อนหน้านี้นะคะ ว่าทักษะนี้เป็นสิ่งที่สอนและเรียนรู้กันได้ตั้งแต่เล็ก วันนี้ครูพิมจึงมีเทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยสร้างให้เด็ก ๆ มี ทักษะ Resilience มาฝากด้วยกัน 4 เทคนิคดังนี้ค่ะ
การเติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างเข้มแข็งของเด็ก ๆ และแน่นอนว่า เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ มีสภาพพื้นฐานจิตใจที่ดี และสามารถที่จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติหลังจากผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายหรือรุนแรงได้ ซึ่งคำว่าครอบครัวอบอุ่นในที่นี่ ไม่ได้แปลว่าการอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา การตามใจ เอาอกเอาใจลูก แต่หมายถึง การที่เด็กได้มีใครสักคนที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวและเกิดความผูกพันอย่างลึกซึ้งด้วยนั่นเองค่ะ
หลาย ๆ ครั้ง เรามักจะเป็นคนที่เข้าไปช่วยลูกในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อความว่องไวบ้าง เพื่อไม่ให้ลูกต้องลำบากบ้าง หรือบางครั้งก็เป็นการตัดรำคาญ แต่ทราบไหมคะว่า การสอนล่วงหน้า แล้วปล่อยให้ลูกได้ลองแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่ถูกต้องด้วยตัวเองดูบ้าง จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่สำคัญ ที่จะทำให้เด็ก ๆ สามารถพึ่งพาตนเองได้ และมีทักษะในการฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าตนเองก็มีความสามารถในการจัดการกับปัญหาด้วยตัวเองได้นั่นเองค่ะ
คำว่าทำงานในที่นี้ ไม่ใช่ให้คุณพ่อคุณแม่ไปสมัครเป็นครูนะคะ ฮ่า ๆ ๆ แต่หมายความว่า ให้เราหมั่นสอบถามพูดคุยกับคุณครูที่โรงเรียน ถึงสภาพแวดล้อม หลักสูตร รูปแบบการเรียนการสอน กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่า เด็ก ๆ กำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมเชิงบวกทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน และเพื่อให้มั่นใจว่าการเรียนการสอนที่โรงเรียน ตรงกับรูปแบบการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ค่ะ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการสร้างสภาพจิตใจที่เข้มแข็งให้กับเด็ก และควรให้ความสนใจมากกว่าผลการเรียนหรือตัวเลขในกระดาษที่อาจจะไม่ได้สะท้อนความสามารถที่แท้จริงของเด็กอย่างครบถ้วนหรือมากเพียงพอค่ะ
เด็กเล็กต้องได้เล่น เด็กโตต้องได้พักผ่อนอยู่กับตัวเองบ้าง หลักการเหล่านี้เป็นเรื่องง่ายที่ผู้ปกครองหลายท่านอาจมองไม่เห็นความสำคัญ แต่การได้มีเวลาสำหรับตัวเองอย่างเต็มที่ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ในทุก ๆ วัน และทุก ๆ สัปดาห์นั้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับเด็ก ๆ เพราะพวกเขามักจะไม่เข้าใจว่าตนมีความเครียด จึงอาจทำให้เกิดความเครียดสะสม แล้วกลายเป็นปัญหารุนแรงทางจิตใจในภาพหลัง หรือเมื่อเจอกับภาวะวิกฤตของชีวิตได้ค่ะ
ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี
นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก