ย้อนหลังไปราวปี ค.ศ. 1950 นักวิทยาศาสตร์นิยามคำว่า AI : Artificial Intelligence เนื่องจากเกิดการตั้งคำถามว่า “คอมพิวเตอร์สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้อย่างไร" หากมองในกรณีที่มนุษย์พบกับเงื่อนไขบางอย่างและต้องตัดสินใจ คอมพิวเตอร์เองจะมีวิธีคิดและตัดสินใจอย่างไร ดังนั้น AI คือรูปแบบการทำงานที่เลียนแบบทักษะของมนุษย์นั่นเอง
โดยทั่วไปนั้น กลไกสมองประกอบด้วยกลไกสามอย่าง ชั้นแรก คือ กลไกการสร้างพฤติกรรมตามธรรมชาติ (สัญชาตญาณ) ชั้นที่สอง เป็นกลไกในการทำให้เกิดพฤติกรรมหรือการตอบสนองทางอารมณ์และความทรงจำ ส่วนในชั้นที่ 3 จะเป็นกลไกในการรับรู้ขั้นสูงเฉพาะมนุษย์เท่านั้น ซึ่งอาจหมายถึงการประเมินถึงอนาคตโดยอาศัยข้อมูลจากการรับรู้นั่นเอง
การให้ AI พยายามเลียนแบบทักษะการดมกลิ่นของมนุษย์นั้นถือเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังที่กล่าวไปแล้วว่า สมองของมนุษย์มีการรับรู้ที่ซับซ้อน โดยเฉพาะการประเมินในชั้นที่ 3 การให้ AI เลียนแบบการดมกลิ่นจากสัตว์ชนิดอื่นจึงดูจะเป็นทางออกที่ดีกว่า และในที่สุด นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบว่าแมลงนั้นมีคุณสมบัติเหมาะสม เนื่องจากโครงสร้างของสมองนั้นไม่ได้ซับซ้อนมากนัก โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ชั้นที่หนึ่งและสองเท่านั้น
เจ้าแมลงที่ว่านี้ คือ ผีเสื้อกลางคืนที่มีชื่อว่า "Bombyx mori" ซึ่งตอบสนองต่อกลิ่นได้ไวเป็นพิเศษ โดยในขณะที่มันเป็นตัวไหมนั้น หากมันได้รับรู้ถึงกลิ่นแล้วครั้งหนึ่ง มันจะสามารถตามไปถึงแหล่งที่มาของกลิ่นได้เสมอ แม้ว่าแหล่งกำเนิดของกลิ่นจะอยู่ห่างออกไปหลายกิโลเมตรก็ตาม และแล้วหุ่นยนต์ที่ควบคุมด้วยตัวไหมก็ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเจ้าหุ่นยนต์นี้ ประกอบด้วยลูกบอลและมอเตอร์สำหรับขับเคลื่อนล้อ ตามการควบคุมของตัวไหมในการที่จะไปหากลิ่นที่มันต้องการ
ฟีโรโมนเพศหญิงของตัวไหมที่ผลิตออกมานั้น เป็นสารโปรตีนชนิดหนึ่ง เมื่อถูกปล่อยลอยไปตามลมจะถูกรับรู้ได้ด้วยหนวดของตัวผู้ ซึ่งถูกเชื่อมโยงไว้กับเซนเซอร์ที่ตอบสนองต่อการรับรู้โปรตีน เมื่อเซนเซอร์ถูกกระตุ้น จะส่งสัญญาณไปยังสมองและถูกประมวลผลด้วยวิธีต่าง ๆ หลังจากนั้นสัญญาณก็จะถูกส่งต่อไปยัง “Pre-Movement Center” อันเป็นหน่วยประมวลผลที่เชื่อมโยงกับวงจรประสาทของหนอนไหม ขั้นสุดท้ายคือการส่งคำสั่งจากสมองของหนอนไหมไปยังหน้าอกและหน้าท้องเพื่อควบคุมหุ่นยนต์อย่างเหมาะสม ในการที่จะทำให้มันค้นหาแหล่งที่มาของฟีโรโมนต่อไป