Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

4 รูปแบบการสื่อสารกับลูกที่พ่อแม่ต้องรู้

Posted By ณัฏฐณี สุขปรีดี | 28 พ.ย. 62
6,826 Views

  Favorite

การสื่อสาร เป็นหนึ่งในพัฒนาการสำคัญที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก และแน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูจะกำหนดทิศทางว่า เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาเป็นคนที่มีรูปแบบการสื่อสารแบบใด

 

ซึ่งแน่นอนว่า คำว่าการสื่อสารในที่นี่ คงไม่ใช่แค่ การพูดมาก หรือ พูดน้อย การพูดค่อย ๆ หรือพูดดัง ๆ หรือแม้แต่การเลือกใช้คำศัพท์ในการพูด เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่สิ่งที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้จากพ่อแม่ก็คือ “รูปแบบของการสื่อสาร” ที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้นั่นเองค่ะ

สำหรับรูปแบบการสื่อสารที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเลือกใช้ที่จะสื่อสารกับลูก มักจะออกมาสอดคล้องกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจาก 4 รูปแบบนี้ค่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

1. การสื่อสารแบบออกคำสั่ง

รูปแบบการสื่อสารแบบนี้ คือวิธีการที่พ่อแม่สื่อสารพูดคุยกับลูก โดยที่มีเนื้อหาหรือเรื่องราวส่วนใหญ่เกี่ยวกับการออกคำสั่ง ตรวจสอบ คาดหวัง ตำหนิ ลงโทษ และดุด่า เสียเป็นส่วนใหญ่ เรียกได้ว่า ได้อ้าปากพูดคุยกันทีไร ก็แทบจะหนีไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ ซึ่งเราอาจจะเรียกว่า เป็นการสื่อสารแบบที่ไม่แนะนำมากที่สุด เพราะไม่ได้ช่วยให้เกิดความเข้าใจหรือตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของลูกเลยค่ะ

2. การสื่อสารแบบยอมตาม

ตรงข้ามกับลักษณะแรกอย่างสิ้นเชิง ก็คือ การสื่อสารแบบยอมตามนี่หละค่ะ ซึ่งวิธีการสื่อสารของพ่อแม่รูปแบบนี้ จะเป็นไปในทิศทางของการตามลูกเสียมากกว่า คือลูกเป็นผู้นำการสื่อสาร ส่วนพ่อแม่เป็นผู้ตาม เป็นผู้ตอบสนอง และถึงแม้ว่าจะเป็นการสื่อสารในเชิงบวก แต่ด้วยการสื่อสารที่อ่อนโอนจนเกินไป ก็มักทำให้เด็กขาดระเบียบวินัย ไม่ค่อยมีความอดทน และเป็นไปได้ที่จะเติบโตมาเป็นบุคคลที่ขาดทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นค่ะ

3. การสื่อสารแบบไม่สื่อสาร

ลักษณะของพ่อแม่รูปแบบนี้ เรียกว่าเป็นการใช้ชีวิตร่วมหลังคาเดียวกันกับลูก แต่ขาดความผูกพันแทบจะสิ้นเชิง เพราะไม่มีการสื่อสารกันกับลูกอย่างที่ควรจะเป็น บางครั้งเรียกว่าเป็นการสื่อสารแบบเพิกเฉย ต่างคนต่างอยู่ และโดยส่วนใหญ่มักจะทำไปโดยไม่รู้ตัว และเกิดจากการไม่มีเวลาส่วนตัวทั้งกับตนเองและกับคนในครอบครัว ทำให้เกิดการสื่อสารแบบไม่สื่อสารออกมานั่นเองค่ะ

4. การสื่อสารแบบเอาใจใส่

วิธีการสื่อสารแบบนี้ เป็นวิธีการสื่อสารที่ดีและเป็นสิ่งที่แนะนำมากที่สุด นั่นคือการสื่อสารแบบใช้เหตุและผล มีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ร่วมกัน มีการสื่อสารกันทั้งในยามปกติ และในกรณีอื่น ๆ เช่น สื่อสารเพื่อตั้งเงื่อนไข สื่อสารเพื่อขอความคิดเห็น สื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงสื่อสารเพื่อการส่งเสริมและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งวิธีการสื่อสารเหล่านี้ จะช่วยให้เด็กได้เติบโตทั้งความคิด เชาว์ปัญญาและพัฒนาการทางอารมณ์ได้ดีที่สุดนั่นเองค่ะ

 

 

ครูพิม ณัฏฐณี สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • ณัฏฐณี สุขปรีดี
  • 4 Followers
  • Follow