Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

แหล่งอาหารของมนุษย์บนดาวอังคาร

Posted By Rezonar | 18 พ.ย. 62
41,780 Views

  Favorite

อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ในวัย 14 ปี เขาได้อ่านหนังสือที่มีชื่อว่า The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการเดินทางท่องไปในอวกาศ หลังจากนั้นเป็นต้นมา เขาก็มีความคิดเกี่ยวกับการเดินทางไปยังดาวดวงอื่น และที่สำคัญคือ จะเป็นไปได้ไหม ที่มนุษย์เราจะออกไปใช้ชีวิตยังดาวดวงอื่น อย่างเช่นดาวอังคาร

 

เมื่ออีลอนอายุได้ 30 ปี เขาได้เจรจาต่อรองซื้อจรวดขีปนาวุธโซเวียตที่ปลดประจำการแล้วสำหรับการทดลอง แต่การเจรจาก็ล้มเหลวไปในที่สุด เนื่องจากไม่สามารถตกลงราคากันได้ และนี่เองเป็นที่มาของการก่อตั้งโครงการ SpaceX

 

ความเปลี่ยนแปลงที่ยอมรับได้

เป้าหมายของ บริษัท SpaceX ก็เพื่อสร้างจรวดและยานอวกาศที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นการปฏิวัติเทคโนโลยีอวกาศ แต่เป้าหมายสูงสุดจริง ๆ ของโครงการ คือการอพยพนำพามนุษย์ออกไปใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงอื่น (โดยมีเป้าหมายคือดาวอังคาร)

ภาพ : Shutterstock

 

หากมีการอพยพมนุษย์ไปใช้ชีวิตนอกโลกจริง การเปลี่ยนแปลงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ระดับแรงดึงดูดโน้มถ่วงที่เปลี่ยนไปอย่างมาก, รังสีต่าง ๆ ในอวกาศที่มนุษย์ไม่คุ้นเคย ยังไม่นับรวมถึงสภาพความโหดร้ายในห้วงอวกาศจนบางคนอาจจะอยากย้ายกลับมายังโลก

 

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับอะไหล่หรือชิ้นส่วนของยานอวกาศ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น จะต้องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางความมืดมนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดคงไม่ยากเกินไปที่มนุษย์จะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

 

การเพาะปลูกบนดาวอังคาร

บนโลกของเรานั้น มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ พื้นฐานของอาหารก็ล้วนมาจากพืชนั่นเอง แต่เราไม่สามารถทำการเพาะปลูกบนดาวอังคารได้

ภาพ : Shutterstock

 

หากเรานำเมล็ดพันธุ์บนโลกหว่านลงบนพื้นผิวดาวอังคาร ความหนาวเย็นและความกดอากาศต่ำจะทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่สามารถงอกเงยได้ นอกจากนี้ยังไม่มีสารอินทรีย์ที่ช่วยในการเจริญเติบโต และชั้นบนสุดของผิวดาวยังมีสารเปอร์คลอเรต (perchlorates) ซึ่งเป็นพิษอีกด้วย แล้วเราจะมีแหล่งอาหารจากที่ใด ?

 

จำลองการเพาะปลูกบนโลก

ในปี ค.ศ. 2018 ศูนย์วิจัยอวกาศของประเทศเยอรมนี (German Aerospace Center (DLR)) ประสบความสำเร็จในการทดลองปลูกพืชผักในพื้นที่ที่หนาวเย็นของทวีปแอนตาร์กติกที่มีสภาพอุณหภูมิต่ำถึง -20 องศาเซลเซียส อยู่ในสภาพเกือบไร้แสงแดดและต้องเผชิญกับพายุหิมะเป็นครั้งคราว สำหรับพืชที่ทดลองปลูกนั้นมีหลายชนิด เช่น แตงกวา ผักกาดหอม แรดิช มะเขือเทศ และโหระพา

ภาพ : Shutterstock

 

ผักทั้งหมดถูกปลูกอยู่ในระบบควบคุมสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเหมือนกับตู้คอนเทนเนอร์ ไม่มีหน้าต่างและไม่มีแสงธรรมชาติเล็ดลอดเข้าไปภายใน มีระบบสารละลายใต้แสงไฟเทียมและมีการควบคุมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ ทั้งนี้ ต้องใช้เวลาในการดูแลประมาณวันละประมาณ 3-4 ชั่วโมง ตลอดระยะเวลา 9.5 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 268 กิโลกรัมโดยใช้พื้นที่เพียง 12.5 ตารางเมตรเท่านั้น

 

ทั้งนี้ โครงการนี้ริเริ่มขึ้นก็เพื่อศึกษาความเป็นไปได้สำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกได้ยากลำบาก ดังเช่นในอวกาศที่หนาวเย็นและไร้แสงแดด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักบินอวกาศที่อาจต้องใช้เวลาอยู่ในห้วงอวกาศอย่างยาวนาน จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ด้วยตัวเอง

 

นอกจากนี้ การทดลองปลูกพืชในพื้นที่ไร้แรงดึงดูดโน้มถ่วง ยังมีการทดลองและประสบความสำเร็จแล้วเช่นกัน โดยโครงการนี้เริ่มต้นโดย NASA ซึ่งเน้นไปที่การศึกษาการตอบสนองของพืชที่มีต่อแรงดึงดูดโน้มถ่วงที่เปลี่ยนไป

 

นอกจากโปรตีนจากพืชที่ปลูกแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบว่า จิ้งหรีดนั้นอุดมไปด้วยโปรตีน อีกทั้งการทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดยังง่ายกว่าฟาร์มเนื้อสัตว์อื่น เมื่อถึงเวลานั้น บนดาวอังคารก็สามารถสั่งจิ้งหรีดจากบนโลกได้เช่นกัน หรือแหล่งโปรตีนอื่น เช่น เนื้อสัตว์ที่เพาะได้จากเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน

ภาพ : Shutterstock

 

อาหารสำหรับหนึ่งล้านคนบนดาวอังคาร

นักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองความต้องการอาหารของประชากรบนดาวอังคาร ที่เพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งล้านคนเมื่อเวลาผ่านไป 100 ปี โดยกำหนดตัวแปรให้มีการเดินทางมาจากโลกราว 150 ครั้ง มีอัตราการเกิดและการตายตามธรรมชาติ รวมไปถึงเด็กเกิดใหม่จะมีสุขภาพที่ดี และมีการเพิ่มขึ้นของประชากรบนดาวอังคารเป็นไปตามธรรมชาติ

 

ผลจากแบบจำลองแสดงให้เห็นว่า หากไม่มีการเพาะปลูกบนดาวอังคาร จะต้องใช้ยานในการลำเลียงเสบียงอาหารจากโลกมากกว่า 200,000 ครั้ง จึงจะมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภค แต่ถ้าหากทำการเพาะปลูกในพื้นที่ของตน ความจำเป็นในการส่งเสบียงจากโลกจะลดลงเหลือเพียงราว 50,000 ครั้ง ในรอบ 100 ปีเท่านั้น

ภาพ : Shutterstock

 

ถึงแม้แนวคิดในการไปตั้งรกรากยังดาวอังคารจะยังไม่เป็นความจริง แต่โลกก็มีเทคโนโลยีที่มากพอจะทำให้เชื่อได้ว่า ถ้าหากวันหนึ่งมันเป็นจริงขึ้นมา มนุษย์บนดาวอังคารก็จะมีอาหารเพียงพออย่างแน่นอน แต่อย่างไรตาม ในวันที่ยังไม่สามารถเดินทางออกไปได้ การนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้เพื่อผลิตอาหารให้มนุษย์บนโลก ก่อน ก็น่าจะให้ประโยชน์มหาศาลเช่นกัน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง
- ย้ายไปอยู่ดาวอังคารกันไหม
- ความหวังพบสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารริบหรี่เต็มที
 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow