เราจึงจัดหมวดหมู่นิทานอีสปที่มีคติธรรมสอนใจคล้ายกันรวมเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ง่ายต่อการเล่าให้ลูกหลานฟัง เริ่มจากคติธรรมสอนเรื่องการพูด ซึ่งรวบรวมไว้ทั้งหมด 6 เรื่อง ดังนี้
ลาตัวหนึ่ง บังเอิญเดินไปเจอหนังสิงโตที่นายพรานนำมาตากแดดไว้ จึงขโมยมาคลุมตัว แล้วเที่ยวเดินยืดอกทำทีว่าเป็นสิงโตเจ้าป่าผู้ยิ่งใหญ่ บรรดาสัตว์ในป่าเห็นก็เข้าใจว่าสิงโตกำลังออกล่าเหยื่อ จึงพากันหวาดกลัววิ่งหนีกระเจิดกระเจิง
ขณะเดียวกัน หมาจิ้งจอกเดินผ่านมา เจ้าลาที่สวมหนังสิงโตอยู่จึงคำรามเลียนเสียงสิงโต หวังให้หมาจิ้งจอกกลัวเหมือนกับสัตว์ตัวอื่น ๆ แต่หมาจิ้งจอกรู้ทันว่าเป็นเสียงเจ้าลาจึงพูดขึ้นว่า
"ถ้าข้าไม่ได้ยินเสียงร้องของเจ้า ข้าก็คงเข้าใจว่าเจ้าคือสิงโตและวิ่งหนีไปแล้วล่ะ" หมาจิ้งจอกพูดพลางหัวเราะแล้วเดินจากไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
คำพูดของคนอวดฉลาด คือการประกาศความโง่เขลาของตัวเองให้ผู้อื่นจับได้โดยไม่รู้ตัว
หมาจิ้งจอกตัวหนึ่ง มัวแต่เดินเพลินจนทำให้พลัดตกลงไปในบ่อน้ำลึก หมาจิ้งจอกพยายามตะเกียกตะกายขึ้นมาจนเกาะขอบบ่อเอาไว้ได้ บังเอิญหมาป่าเดินผ่านมา หมาจิ้งจอกเห็นเข้าจึงตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ
"ช่วยด้วยหมาป่า ดึงข้าขึ้นไปที ข้าจะหมดแรงแล้ว"
หมาป่าหยุดชะโงกหน้าดูหมาจิ้งจอก แล้วถามด้วยความห่วงใยว่า
"อ้าว ! แล้วเจ้าทำยังไงถึงได้ตกไปในบ่อน้ำล่ะ แล้วเกาะอยู่อย่างนี้นานรึยัง ไม่มีใครผ่านมาช่วยเจ้าเลยเหรอ"
หมาจิ้งจอกจึงรีบพูดขึ้นว่า
"ข้าก็หวังจะให้เจ้าช่วยนี่แหละ รีบดึงข้าขึ้นไปทีเถอะ อย่ามัวแต่ถามอยู่เลย แล้วข้าจะเล่าทุกอย่างให้ฟัง"
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การลงมือช่วยเหลือ ย่อมดีกว่าคำพูดแสดงความเห็นใจ
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีเด็กเลี้ยงแกะที่ชอบกุเรื่องโกหกเป็นชีวิตจิตใจ วันหนึ่ง ขณะที่เด็กเลี้ยงแกะกำลังต้อนฝูงแกะไปกินหญ้าที่เนินเขา เขาเกิดนึกสนุกอยากแกล้งชาวบ้านจึงทำเป็นวิ่งหน้าตาตื่นลงมาจากเนินเขา พลางตะโกนว่า
"ช่วยด้วย ช่วยด้วย ! หมาป่ามากินแกะแล้ว ช่วยฉันด้วย"
ชาวบ้านได้ยินดังนั้นก็รีบคว้าอาวุธแล้ววิ่งมาหาเด็กเลี้ยงแกะทันที แต่เมื่อไปถึงกลับไม่เห็นแม้แต่เงาของหมาป่า เด็กเลี้ยงแกะหัวเราะชอบใจที่หลอกชาวบ้านได้ เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนชาวบ้านโกรธและเอือมระอา
วันหนึ่ง ขณะที่เด็กเลี้ยงแกะนั่งเฝ้าฝูงแกะกินหญ้า หมาป่าฝูงหนึ่งก็ปรากฎตัวขึ้น และไล่จับแกะกินทีละตัวสองตัว เด็กเลี้ยงแกะตกใจมาก ตะโกนเรียกให้ชาวบ้านมาช่วยจนเสียงแหบเสียงแห้ง แต่ชาวบ้านไม่สนใจเพราะคิดว่าเด็กเลี้ยงแกะแกล้งอีก หมาป่าจึงกินแกะไปจนหมดฝูง และวิ่งหายเข้าป่าไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
คนขี้โกหก ย่อมไม่มีใครเชื่อถือ
ในเล้าไก่แห่งหนึ่ง ไก่ชนสองตัวต่อสู้แย่งชิงกันเป็นจ่าฝูงอย่างดุเดือด ไก่ชนตัวใหญ่จิกตีไก่ชนอีกตัวจนชนะ ไก่ชนที่ตัวเล็กกว่าจึงรีบหนีเข้าไปหลบอยู่มุมเล้าด้วยความอับอาย
เมื่อได้รับชัยชนะ ไก่ชนตัวใหญ่ก็กระพือปีกบินขึ้นไปบนหลังคา ยืนผงาดโก่งคอขันด้วยความภาคภูมิใจ
"เอ้ก อี้ เอ้ก เอ้ก ! ข้าคือจ่าฝูงผู้แกร่งกล้าของเล้านี้"
ขณะเดียวกัน นกอินทรีหิวโซตัวหนึ่งกำลังบินออกล่าเหยื่อ เห็นไก่ชนตัวใหญ่อยู่บนหลังคา จึงโฉบลงมาและจับตัวไก่ชนตัวนั้นบินลับหายไป ไก่ชนตัวที่พ่ายแพ้จึงออกมาจากที่ซ่อน และกลายเป็นจ่าฝูงไก่ตัวใหม่นับแต่นั้นมา
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การคุยโวโอ้อวด จะนำความเดือดร้อนมาให้
วันหนึ่ง ม้าศึกทรงเครื่องศึกเต็มยศ มีทั้งอานสวยและบังเหียนงามหรู ควบตะบึงเดินทางไปร่วมรบในศึกอันห่างไกล ม้าศึกบังเอิญเจอลาขนสัมภาระหนักอึ้งเต็มหลังเดินขวางทางอยู่ จึงไล่ว่า
"หลบไปเจ้าลา ! เจ้าช่างบังอาจมาขวางทางฉัน ไม่เห็นหรือว่าฉันรีบ" เจ้าลาเดินหลบเข้าข้างทางอย่างเจียมตัว
ต่อมา เจ้าลาพบกับม้าศึกตัวเดิมอีกครั้ง แต่คราวนี้ม้าศึกไม่งามสง่าอีกต่อไป กลับอยู่ในสภาพซอมซ่อและเต็มไปด้วยบาดแผล ม้าศึกโดนปลดออกจากสนามรบ และถูกนำมาขายต่อให้กับพ่อค้า กลายเป็นม้าคอยลากเกวียนบรรทุกของแสนหนักอึ้ง เจ้าลาจึงร้องทักม้าศึกว่า
"เจ้าม้าศึก ! ทำไมถึงอยู่ในสภาพตกต่ำอย่างนี้ ความหยิ่งทะนงที่เคยมีหายไปไหนหมดล่ะ" เจ้าลายิ้มเยาะ ส่วนม้าศึกได้แต่ก้มหน้าเดินลากเกวียนต่อไปด้วยความอับอาย
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
อย่าดูถูกผู้ที่ต่ำต้อยกว่า เพราะวันหนึ่งเราอาจตกต่ำได้เช่นกัน
เด็กชายคนหนึ่งชอบคุยโอ้อวดกับเพื่อน ๆ ว่าเขาสามารถดื่มน้ำทะเลให้หมดได้ในคราวเดียว ชาวบ้านที่ได้ยินต่างก็เอือมระอา มีเด็กชายคนหนึ่งไม่เชื่อสิ่งที่เขาพูด จึงเดินไปพูดกับเด็กชายคนนั้น เด็กชายที่โอ้อวดจึงตอบกลับมาว่า "เรามาพิสูจน์กันไหมล่ะ ถ้าเราทำได้นายต้องจ่ายเงินให้เรา" เด็กชายที่ไม่เชื่อจึงตอบว่า "ตกลง งั้นนายไปดื่มน้ำทะเลให้หมดก่อนเลย" เด็กชายที่โอ้อวดจึงตอบว่า
"แน่นอนอยู่แล้ว แต่ก่อนอื่น นายต้องไปกั้นไม่ให้น้ำในแม่น้ำไหลลงทะเลก่อนนะ แล้วเราจะดื่มน้ำทะเลอย่างที่บอก"
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า
การเอาแต่คุยโอ้อวด ไม่ก่อให้เกิดผลสำเร็จใด ๆ