นรรัชต์ ฝันเชียร
ถ้าจะกล่าวถึงการจัดการศึกษาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและมีแรงสนับสนุนจากหลายภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องของการจัดการศึกษาที่เรียกกันว่า “สะเต็มศึกษา (STEM)” การจัดการศึกษาแบบสะเต็มศึกษา (STEM) เป็นแนวคิดการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่อง 4 ศาสตร์ อันได้แก่
- วิทยาศาสตร์ (Science)
- เทคโนโลยี (Technology)
- วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering)
- คณิตศาสตร์ (Mathematics)
โดยเกิดขึ้นครั้งแรกโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (the National Science Foundation: NSF) ซึ่งได้ใช้คำนี้ในการอ้างอิงถึงโครงการหรือโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ก่อนที่กระทรวงด้านการศึกษาของสหรัฐอเมริกาจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของแนวการจัดการศึกษาดังกล่าว จึงได้มีนโยบาย Educate to Innovate ซึ่งสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาแบบ สะเต็มศึกษามากขึ้น เพื่อยกระดับการศึกษาของสหรัฐอเมริกาให้ไปสู่ในระดับสากล ซึ่งในสหรัฐอเมริกานั้น นอกจากจะมีการสอนสะเต็มศึกษาในโรงเรียนแล้ว ยังมีการเปิดสาขาวิชาสะเต็มศึกษาสำหรับการศึกษาในระดับสูงอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ภายหลังการเติบโตของกระแสสะเต็มศึกษาในต่างประเทศ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้มีการจัดตั้งศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษา ในศูนย์สะเต็มศึกษาภาค และโรงเรียนเครือข่าย โดยมีการสนับสนุนดังนี้
- จัดส่งสื่อในการสร้างความตระหนักและให้ความรู้เรื่องสะเต็มศึกษาและนิทรรศการในพื้นที่
- สร้างหลักสูตรพัฒนาผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัด
- พัฒนาวิทยากรและเครือข่ายพี่เลี้ยงเพื่อสนับสนุนในพื้นที่
- จัดทำระบบติดตามและประเมินผล
ซึ่งทั้งหมดนี้ มีเครือข่ายสะเต็มศึกษาประเทศไทย อันได้แก่ ศูนย์สะเต็มศึกษาแห่งชาติ ศูนย์สะเต็มศึกษาภาค โรงเรียนเครือข่ายสะเต็มศึกษา เครือข่ายมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยงวิชาการ เครือข่ายศึกษานิเทศก์ และเครือข่ายครูพี่เลี้ยงวิชาการ ที่คอยดำเนินการ ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยให้การศึกษาแบบสะเต็มศึกษาในประเทศไทยมีความก้าวหน้า
การจัดการศึกษาแบบสะเต็มศึกษา มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนรักและเห็นคุณค่าของการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และเห็นถึงการนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งการจัดการศึกษารูปแบบนี้ เป็นการจัดการศึกษาที่เน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน
การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นเพียงการท่องจำทฤษฎีหรือกฏทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจในทฤษฎีหรือกฏเหล่านั้นผ่านการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่กับการพัฒนาทักษะกระบวนการคิด การตั้งคำถาม การแก้ปัญหาและการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบเหล่านั้นไปใช้หรือบูรณาการกับชีวิตประจำวันได้
การจัดการศึกษาแบบสะเต็มศึกษานั้น ประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 5 ประการ อันได้แก่
1. เป็นการสอนที่เน้นการบูรณาการ 4 วิชาอันได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เข้าด้วยกัน
2. เป็นการสอนที่ช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงเนื้อหาวิชาทั้ง 4 สาขา ให้เข้ากับชีวิตประจำวันและการทำงาน
3. เป็นการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 นั่นคือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะสารสนเทศ และทักษะชีวิตและอาชีพ
4. เป็นการสอนที่มุ่งให้เกิดการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งท้าทายความคิดของนักเรียน
5. เป็นการสอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น และเกิดความเข้าใจในองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับเนื้อหาทั้ง 4 ศาสตร์
ข้อดีของการจัดการศึกษาแบบสะเต๊มศึกษานั้น คือ การทำให้ผู้เรียนมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้ผู้เรียนมีทัศนะที่กว้างไกลมากขึ้น สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันหรือการทำงานได้ เป็นแนวการจัดการศึกษาที่สามารถพลิกแพลงวิธีการสอนได้หลากหลายรูปแบบ และสอดคล้องตามความต้องการพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21
อย่างไรก็ดี แม้การจัดการศึกษาแบบสะเต็มศึกษาจะดีเพียงไร แต่ก็พบว่ามีข้อจำกัดมากมายที่เป็นอุปสรรคต้องการจัดการศึกษาแบบสะเต็มศึกษาในประเทศไทย เช่น ความไม่พร้อมด้านสื่อเทคโนโลยี ขาดบทเรียน และขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญและชำนาญในการจัดการศึกษาแบบสะเต็มศึกษา ตลอดจนระบบการศึกษาของไทยที่กำหนดศาสตร์แต่ละศาสตร์เป็นกลุ่มสาระการเรียนรู้ชัดเจนทำให้การบูรณาการและส่งต่อในแต่ละชั้นทำได้ยาก
ปัจจุบันตลาดแรงงานระดับโลกต้องการแรงงานที่มีความรู้ด้านสะเต็มศึกษาเป็นอย่างมาก โดยในปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ตามรายงานของ Stemconnector ระบุว่ามีตลาดแรงงานต้องการผู้มีความรู้ด้านสะเต็มศึกษาถึง 8.65 ล้านคน โดยอยู่ในสายงานคอมพิวเตอร์และวิศวกรรมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเครื่องการันตีว่า ในปัจจุบัน แต่ละประเทศให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในลักษณะของสะเต็มศึกษามากขึ้น คือ เน้นสร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ
นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาแบบสะเต็มศึกษา เพราะถือเป็นเรื่องที่ทันสมัย และเป็นหนทางสำคัญในการติดอาวุธทางปัญญาให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาเติบโต มีความพร้อม กล้าที่จะเผชิญความท้าทายใหม่ ๆในโลกที่มีแนวโน้มจะแข่งขันสูงขึ้นได้ จึงเป็นหนึ่งในแนวการศึกษาที่ควรส่งเสริมอย่างจริงจังในทุก ๆ โรงเรียนเป็นอย่างยิ่ง