Lazy Economy หรือ เศรษฐกิจขี้เกียจคือเศรษฐกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยความขี้เกียจของคนยุคใหม่ ที่ต้องการความสะดวกสบายในการลดภาระการทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ งานที่น่าเบื่อ งานที่ใช้เวลานาน หรืองานที่ต้องเดินทางไป เพื่อจะได้มีเวลาทำงานอื่นที่สำคัญมากกว่า โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ตและเครื่องมืออย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต โน้ตบุ๊ก หรือตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ การชำระเงินเป็นแบบไม่ใช้เงินสด ตัวอย่างงานในระบบเศรษฐกิจขี้เกียจ เช่น การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ การสั่งอาหารผ่าน Application
Lazy Economy เริ่มพูดถึงครั้งแรกกับเศรษฐกิจประเทศจีน ที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีก้าวกระโดดมีเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ชื่อดังอย่าง Alibaba และ Taobao ที่ได้รับความนิยมอย่างมากมหาศาล ในปัจจุบันเศรษฐกิจขี้เกียจเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไปแล้ว
นอกจากนี้ เริ่มมีธุรกิจและอาชีพเกิดใหม่ที่ตอบสนองเศรษฐกิจขี้เกียจแปลก ๆ หลายอย่าง เช่น บริการเติมน้ำมันถึงที่ บริการเลือกเสื้อผ้า บริการไปเช้งเม้งแทนคนที่ไม่ว่าง บริการให้อาหารสัตว์แทนคนที่ไม่อยู่บ้านหลาย ๆ วัน บริการฝึกและพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น บริการไปออกกำลังเป็นเพื่อน และนักแกะเปลือกกุ้งมืออาชีพ
Lazy consumer : ผู้บริโภคที่ขี้เกียจหรือไม่อยากเสียเวลาหรือออกแรงไปทำงานเล็ก ๆ น้อยๆ และยอมที่จะใช้เงินแก้ปัญหาหรือมาช่วยทำสิ่งต่าง ๆ แทน
Lazy devices : เครื่องใช้ที่ออกแบบมาเพื่อเอาใจคนขี้เกียจทั้งหลาย เช่น เครื่องพับผ้าอัตโนมัติ (FlodiMate) แปรงสีฟันอัตโนมัติ (Amabrush)
Automation & Hands-Free Device : อุปกรณ์ที่ทำงานอัตโนมัติและไม่ต้องใช้มือจับ เช่น เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติที่เคลื่อนที่ดูดฝุ่นไปทั่ว ๆ ห้องเอง เครื่องซักถุงเท้าและชุดชั้นใน
SLOTH Strategy : กลยุทธ์แบบตัวสล็อต เนื่องจากสล็อตคือสัตว์ที่เคลื่อนที่ช้ามาก ใช้เปรียบเทียบคนขี้เกียจกล่าวถึงกลยุทธ์ที่ต้องใช้ดำเนินธุรกิจในเศรษฐกิจขี้เกียจ ประกอบด้วย Speed (ความรวดเร็ว) Lean (ลดขั้นตอนไม่จำเป็นออก) Enjoy (รู้สึกสนุก ไม่น่าเบื่อ) Convenient (สะดวก ง่าย) และ Happy (มีความสุขเมื่อความต้องการได้รับการเติมเต็ม)
Tediousness and time-consuming chores : งานบ้านหรืองานที่น่าเบื่อและเปลืองเวลา
Cashless payment : การจ่ายเงินแบบไม่ใช้เงินสด เช่น ใช้บัตรเครดิต โอนเงินผ่านการสแกน QR Code
Cashless Society : สังคมไร้เงินสด
QR (Quick Response) code : บาร์โค้ด 2 มิติ
Hyper-convenience : ความสะดวกสบายที่มากเกินความจำเป็น
On Demand Service : บริการที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยทำสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการของแต่ละคน
Food Delivery : บริการส่งอาหารถึงที่
Home Service : บริการทำงานบ้านและซ่อมแซมบ้าน
Door-to-Door delivery service : บริการรับส่งสินค้า ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งผู้ส่งและผู้รับสินค้า โดยบริการไปรับสินค้าจาก (ประตูโรงงาน) ผู้ส่งสินค้าและนำสินค้าไปส่งยัง(ประตูบ้าน) ผู้รับสินค้า
Grocery Delivery : บริการซื้อของชำหรือของอุปโภคบริโภค
Ready to Cook : อาหารพร้อมปรุง หรือชุดอาหารที่หั่น สับ ซอย วัสดุดิบของสดมีเครื่องปรุงรสมาพร้อมนำไปปรุงได้เลย
Ready to Eat : อาหารพร้อมทาน หรืออาหารสำเร็จรูปที่แค่อุ่นร้อน หรือนำเข้าไมโครเวฟก็รับประทานได้เลย
Vending Machine : เครื่องจำหน่ายอาหารพร้อมทานอัตโนมัติ
Read Less, Listen More : รูปแบบธุรกิจที่อ่านหนังสือให้ฟัง หรือย่อใจความสำคัญของหนังสือเล่มหนาๆ ให้ฟังแทนการเสียเวลาอ่านเองทั้งเล่ม
Podcast : การพูดคุย เล่าเรื่อง สนทนาเรื่องต่าง ๆ ผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต คล้ายๆ กับการฟังรายการวิทยุ แต่มีความหลากหลายทางเนื้อหาที่เลือกฟังได้หัวข้อที่อยากฟัง และสามารถกดฟังเมื่อไหร่ก็ได้
Digital Little Emperors : จักรพรรดิน้อยดิจิทัลหมายถึงกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 1995 เติบโตขึ้นท่ามกลางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าแบบก้าวกระโดด ไม่ชอบการรอคอย นิยมใช้เงินซื้อความสะดวกสบาย