Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ภาษาและวัฒนธรรม: Daylight Saving Time คืออะไร

Posted By bongkot_jara | 06 พ.ย. 62
11,513 Views

  Favorite

ในเมืองไทยเราอาจจะไม่คุ้นเคยกับการปรับเวลานาฬิกาให้เร็วขึ้นหรือช้าลง แต่ประเทศในซีกโลกเหนือทางตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในแถบยุโรปตอนเหนือจะรู้กันดีว่าในแต่ละปีจะมีการปรับเวลา 2 ครั้ง ซึ่งทุกคนจะต้องตั้งเวลาใหม่ให้กับนาฬิกาที่ใช้อยู่ทุกเครื่องเพื่อให้ตรงกัน แล้วเค้าปรับไปทำไมกัน ปรับเพื่ออะไร วันนี้ได้รู้กันค่ะ


ก่อนอื่นต้องบอกว่า เนื่องจากแกนโลกมีความเอียงเล็กน้อย ส่งผลให้ประเทศที่ตั้งอยู่ซีกโลกเหนือนั้นจะมีช่วงเวลากลางวัน และกลางคืนมีระยะเวลายาวนานไม่เท่ากันในแต่ละเดือน ไม่เหมือนกับประเทศที่ตั้งอยู่แถบเส้นศูนย์สูตรหรือเขตร้อนอย่างไทยเรา ในประเทศเขตหนาวนั้น ในบางเดือนช่วงเวลากลางวันยาวนานมากเรียกว่า 3-4 ทุ่ม ก็ยังสว่างไสว ในขณะที่บางเดือน เพียงแค่ 5 โมงเย็นก็มืดสนิทเสียแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศเมืองหนาว เช่น ประเทศแถบยุโรป จึงมีการกำหนด Daylight Saving Time (เวลาออมแสง) ไว้ว่า ในช่วงที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากฤดูใบไม้ผลิเข้าสู่ฤดูร้อนจะมีการปรับเวลาให้เร็วขึ้นอีก 1 ชั่วโมง หรือที่เราเรียกว่า “Spring forward” หรือ “Summer time” และปรับเวลาคืนกลับให้ช้าลง 1 ชั่วโมง เมื่อกำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูหนาวช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงหรือเรียกว่า “Fall back”

จุดประสงค์หลักของการปรับเวลา Daylight Saving Time ก็คือ เพื่อการใช้ประโยชน์จากแสงดวงอาทิตย์ให้มากที่สุดในช่วงที่มีกลางวันยาวนาน หรือพูดง่ายๆว่า พระอาทิตย์ตื่นเร็วขึ้น เราก็ต้องเร่งเวลาตื่นให้เร็วขึ้นตาม ทั้งนี้ก็เพราะในเมืองหนาว แสงแดดเป็นของหายากและมีค่า ผู้คนต้องรีบเร่งทำการงานในช่วงที่มีแสงแดด เพราะกลางคืนอันมืดมิดและหนาวเหน็บนั้นไม่สามารถทำอะไร ๆ หรือไปไหนมาไหนได้สะดวกนักไม่เหมือนบ้านเราที่แสงแดดมีมากมายล้นเหลือ คุณพระอาทิตย์ทำงานแข็งขันเปล่งแสงร้อนแรงทั้งปี

ในแต่ละปี ประเทศเขตหนาวจะประกาศวัน Daylight Saving Time ไว้ล่วงหน้าให้ประชาชนทุกคนได้ทราบ โดยปกติจะกำหนดให้ตรงกับวันอาทิตย์ในช่วงเวลาประมาณตี 1 – ตี 2 เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนอลม่านหากปรับในวันธรรมดา สำหรับในปี 2019 ประเทศสหรัฐอเมริกา ปรับเวลา Daylight Saving Time เร็วขึ้นในวันที่ 10 มีนาคม และปรับช้าลงในวันที่ 3 พฤศจิกายน ส่วนประเทศทางแถบยุโรปเหนือจะปรับ Spring forward ในวันที่ 31 มีนาคม และปรับ Fall back ในวันที่ 27 ตุลาคมค่ะ

การปรับเวลาเช่นนี้ แม้ว่าจะได้ใช้แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ได้คุ้มค่ามากขึ้นก็ตาม แต่ก็มีผลกระทบสำหรับคนที่ไม่ทราบ หรือลืมปรับเวลา เช่น การนัดหมาย ตารางเวลาเครื่องบินออก เวลาในเครื่องคอมพิวเตอร์ การลงบันทึกเวลาต่าง ๆ เพราะฉะนั้นใครที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีการปรับเวลา Daylight Saving Time ในช่วงวันที่ที่เค้าปรับเวลากัน ก็ต้องอย่าลืมที่จะปรับนาฬิกาของเราให้เร็วขึ้นหรือช้าลงด้วยนะคะ


มาดูคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกันสักนิดค่ะ

Equator        เส้นศูนย์สูตร
Axis             แกนโลก
Northern hemisphere    ซีกโลกเหนือ
Southern hemisphere    ซีกโลกใต้
Equinox                     วันที่มีช่วงเวลากลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากันในปีหนึ่งจะมี 2 วัน
Vernal Equinox            วันที่เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
Autumnal Equinox)       ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
Summer Solstice         วันที่กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี
Winter Solstice            วันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี
Spring                       ฤดูใบไม้ผลิ
Summer                    ฤดูร้อน
Fall / Autumn              ฤดูใบไม้ร่วง
Winter                       ฤดูหนาว

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • bongkot_jara
  • 19 Followers
  • Follow