โดยจัดทำโครงการประกวดนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ของเยาวชน ซึ่งขณะนี้ความสำเร็จของโครงการได้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยล่าสุด ได้สร้างนักวิทยาศาสตร์ตัวน้อยที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นจนผ่านการคัดเลือกให้ไปนำเสนอผลงานระดับนานาชาติในงาน Science Castle ที่ประเทศสิงคโปร์ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
นางรุจาภา ศรีสุรางค์ ผู้จัดการส่วนพัฒนาทรัพยากรบุคล บริษัท เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเอส แอนด์ เจฯ เป็นองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านความสวยความงามด้วยการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยนวัตกรรมความงามใหม่ๆมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นบริษัทฯจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานักวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด จากการเริ่มต้นด้วยการพัฒนาห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนในชุมชนให้มีมาตรฐาน
โดยสามารถใช้ห้องเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้และมีโอกาสได้ทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง แต่ด้วยข้อจำกัดที่สามารถลงทุนสร้างได้เพียงปีละ 1 ห้อง จึงไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเกิดเป็นโครงการ Science on Mobile ขึ้น โดยใช้รถโมบายที่ทางบริษัทฯ ออกแบบในลักษณะเฉพาะตัวเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนวิชาแบบ Active Learning มุ่งเน้นการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ลงลึกในภาคปฏิบัติ ทำให้นักเรียนเกิดความสนใจมากขึ้น แต่ด้วยความต้องการของโรงเรียนที่สูงเพิ่มขึ้น ทำให้จำนวนของอาจารย์ที่จะเข้าไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่เพียงพอ เราจึงทำโครงการ The Smart Science Teacher ขึ้น เพื่อพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และเยาวชนนักวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไป โดยสร้างแรงบันดาลใจให้ครูพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ส่วนเยาวชนจะเน้นการสร้างแรงจูงใจให้คิดค้นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์
"ล่าสุด บริษัทฯได้ต่อยอดจากโครงการ The Smart Science Teacher ด้วยการทำโครงการใหม่ที่ชื่อว่าโครงการประกวดนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ของเยาวชน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าเยาวชนจากโครงการนี้ได้สร้างผลงานที่น่าชื่นชมโดยได้รับการคัดเลือกให้ไปนำเสนอผลงานระดับนานาชาติที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งประเทศไทยมีเพียง 1 ทีมเท่านั้นที่จะได้ขึ้นเวทีนำเสนอผลงานร่วมกับนักเรียนไฮสคูลอีก 11 ทีมจากทั่วเอเชีย อาทิ จีน เกาหลี เวียดนาม มาเลเซีย ทั้งนี้บริษัทฯ ได้สนับสนุนค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายให้กับเยาวชน และครูในการไปประกวดที่สิงคโปร์
ด.ช.ธรรมวรุตม์ วรรณเชฐอิสรา ด.ช.นิธิ ภาณุทัต และ ด.ญ.ปณาลี ทองเต็ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนระยองวิทยาคม ซึ่งเป็นนักเรียนไทยทีมเดียวที่ผ่านเข้ารอบได้ไปนำเสนอผลงานแบบ Oral Presentation ในงาน Science Castle เล่าให้ฟังถึงผลงานที่ช่วยกันทำว่า “โครงงานที่พวกเราคิดคือกระดาษดูดซับเอทิลีนจากใบสับปะรด ซึ่งที่มาของโครงงานนี้เกิดจากการที่ระยองเป็นจังหวัดที่ปลูกผลไม้มาก หลายครั้งมีปัญหาผลไม้เน่าเสียง่ายหากต้องขนส่งในระยะไกล ซึ่งโดยทั่วไปนิยมใช้โพแทสเซียเปอร์แมงกานีสในการดูดซับเอทิลีนเพื่อชะลอการสุกของผลไม้แต่สารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เราได้ศึกษาข้อมูลพบว่าผงถ่านกัมมันต์สามารถดูดซับก๊าซเอทิลีนได้ เพราะมีช่องว่างที่สามารถดักโมเลกุลของเอทิลีน จึงได้ทำกระดาษดูดซับเอทิลีนขึ้น โดยสกัดเส้นใยจากใบสับปะรดผสมกับผงถ่านกัมมันต์
จากนั้นนำมาทดสอบความสามารถในการชะลอความสุกของกล้วย จากการทดลองพบว่ากล่องที่ใช้กระดาษดูดซับเอทิลีนจากใบสับปะรดและถ่านกัมมันต์สามารถยืดอายุของกล้วยได้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้น 5 Brix ส่วนกล้วยที่ใส่ในกล่องที่ไม่มีกระดาษดูดซับเอทิลีนมีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้น 8.7 Brix ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของค่า Brix น้อยหมายความว่าสามารถชะลอความสุกของกล้วยได้”
นางสาวมลิสา ชูยงค์ ครูที่ปรึกษาโครงการ โรงเรียนระยองวิทยาคม กล่าวว่า “โครงการนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ของเยาวชนเป็นโครงการที่ดีที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้นักเรียนมีความกระตือร้นร้นที่จะค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม มีการทดลองหลายครั้ง เพื่อพัฒนาผลงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงการคัดเลือกผลงาน คณะกรรมการจากงาน Science Castle ก็ได้ VDO Conference มาสัมภาษณ์และซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับผลงานกับนักเรียนโดยตรง ทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะในการนำเสนอผลงานด้วยภาษาอังกฤษ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมากของนักเรียน”
นับว่าฝีมือไม่ธรรมดาเลยสำหรับเยาวชนไทยกลุ่มนี้ที่สามารถฝ่าฟันทะลุเข้าไปเป็นตัวแทนประเทศไปนำเสนอผลงานของตัวเองบนเวทีนานาชาติประชันกับนักเรียนจากประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย ก็ขอเป็นกำลังใจให้เยาวชนคนเก่งทีมนี้คว้ารางวัล The Best Oral Presentation มาให้คนไทยได้ภูมิใจกัน