โครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY) เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการนี้มุ่งพัฒนาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล/เทศบาล สร้างระบบนิเวศทางสังคมทีเอื้อต่อการพัฒนาและสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชน และสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชนสังคม
รศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY) และอาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า โครงการ “พัฒนารูปแบบตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน” หรือ “Social Innovation & Youth” (SIY) ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 นับเป็นอีกหนึ่งเวทีระดับประเทศ ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนไทย มุ่งสร้างกลไกในการสนับสนุนเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น รวมทั้งมุ่งพัฒนาให้เด็กและเยาวชนบทบาทในการกำหนดแนวทางการพัฒนาและนโยบายท้องถิ่น ภายใต้หลักคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”
โดยได้พัฒนาเด็กและเยาวชนพัฒนาผ่านรูปแบบการมีส่วนร่วม 4 รูปแบบ คือ 1. ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน 2. หลักสูตรท้องถิ่นห้องเรียนชุมชน 3. ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่น และ 4.กองทุนคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น
ซึ่งที่ผ่านมา สภาเด็กและเยาวชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำรูปแบบดังกล่าว ไปปรับใช้ในพื้นที่ตนเองถึง 34 พื้นที่ ดังต่อไปนี้
- ศูนย์ประสานงานเด็กและเยาวชน อาทิ สภาเด็กและเยาวชนตำบลเขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี ได้รวมตัวสำรวจปัญหาชุมชนพบมีขยะจำนวนมาก จึงทำโครงการ “ธนาคารขยะ” เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน และสภาเด็กและเยาวชนตำบลทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ได้สำรวจพบว่ามีผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในชุมชนจำนวนมาก จึงได้ทำโครงการ “วัยใสใส่ใจสโตรก” โดยพัฒนาเครื่องมือช่วยจัดเก็บข้อมูลผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสโตรกในชุมชน
- หลักสูตรท้องถิ่นห้องเรียนชุมชน อาทิ สภาเด็กและเยาวชนเทศบาลตำบลคำม่วง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ หลักสูตร สำรวจความต้องการของเด็กและเยาวชน พบว่าต้องการเรียนรู้ดนตรีพื้นบ้านประยุกต์กับดนตรีสมัยใหม่ จึงเปิดหลักสูตร “ดนตรีโปงลาง” สานต่อวัฒนธรรมพื้นถิ่นกาฬสินธุ์ และสภาเด็กและเยาวชนตำบลพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ. เพชรบูรณ์ สำรวจความต้องการของเด็กและเยาวชน พบความต้องการด้านไอทีและการเกษตร จึงได้เปิดหลักสูตร “เสริมทักษะด้านไอทีกับการเรียนรู้วิถีเกษตร” ยกระดับศักยภาพเยาวชนให้สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว รวมถึงมีพื้นฐานความรู้ด้านการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และสมุนไพรไล่แมลง
- ศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่น อาทิ สภาเด็กและเยาวชนตำบลดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ได้ออกแบบโครงการ “มหัศจรรย์หูช้างแปลงร่าง” เพื่ออนุรักษ์ขนมพื้นบ้านและสืบสานประเพณีเทศน์มหาชาติคนบ้านดอน สภาเด็กและเยาวชนตำบลกะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ได้ทำโครงการ “ยาหม่องน้ำมันไพลสูตรโบราณ” บรรเทาปวดเมื่อย-คลายกล้ามเนื้อผู้สูงวัยในชุมชน และสภาเด็กและเยาวชนตำบลเขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ สำรวจพบว่าเด็กและเยาวชนขาดทักษะว่ายน้ำ จึงพัฒนาโครงการ “ว่ายน้ำเป็น เล่นน้ำปลอดภัย” ลดปัญหาการจมน้ำของเด็กในชุมชน
- กองทุนคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น จากสภาเด็กและเยาวชนตำบลวัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิต ซึ่งได้สำรวจพบว่ากล้วยในชุมชนมีราคาตกต่ำและเด็กเยาวชนต้องการมีรายได้เพิ่ม จึงได้จัดตั้ง “กองทุนคนรุ่นใหม่” โดยนำกล้วยในชุมชนมาแปรรูปเป็น “กล้วยอัดผง-ข้าวเกรียบกล้วย-กล้วยตาก” สร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมส่งเสริมเยาวชนมีจิตสำนึกรักบ้านเกิด
โดยล่าสุด โครงการ SIY ได้จัดมหกรรมแสดงผลงานตำบลส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน (SIY Expo) เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนสามารถแสดงออกถึงหลักคิด สร้างพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพ และได้ลงมือปฏิบัติตามแผนที่ริเริ่มด้วยตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ต้องร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเยาวชนที่ได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศจาก องคมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ รางวัลสูงสุดอันดับ 1 คือ โครงการ “มหัศจรรย์หูช้างแปลงร่าง - สืบสานประเพณีเทศน์มหาชาติคนบ้านดอน” ภายใต้โครงการศูนย์บ่มเพาะนวัตกรท้องถิ่นของ อบต.ดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เป็นการรู้รักษาคุณค่าและหวงแหนถึงรากเหง้าประเพณีสำคัญทางพระพุทธศาสนาท้องถิ่นของเยาวชน สู่การต่อยอดเป็นชุดความรู้ประวัติศาสตร์งานเทศน์มหาชาติ วีดิทัศน์ขั้นตอนการทำขนมหูช้าง และนิทานภาพมหัศจรรย์หูช้างแปลงร่าง
“สำหรับโครงการ SIY นับมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้แนวคิดดังกล่าวให้เป็นจริงได้ และยังช่วยทำลายกำแพงอุปสรรคที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยเฉพาะปัจจัยด้านความเหลื่อมล้ำในสังคม เศรษฐกิจ และโอกาสด้านการศึกษา ที่ทำให้เด็กและเยาวชนในเมืองและในชนบท มีโอกาสและต้นทุนในชีวิตที่แตกต่างกัน ปีนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของประเทศไทย ซึ่งทางโครงการพร้อมที่จะขยายผลและสานต่อเจตนารมณ์ โดยมีเด็กและท้องถิ่นทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผู้นำทางสังคมรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น”
อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการ SIY ในปี 2562 นี้ มีท้องถิ่นที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนรูปแบบการมีส่วนร่วมจำนวน 34 พื้นที่จากทั่วประเทศ จากที่วางเป้าหมาย 12 พื้นที่ ซึ่งเกินเป้าหมายที่วางไว้เกือบ 3 เท่า โดยในอนาคตตั้งเป้าให้ท้องถิ่นนำร่องกลายเป็นท้องถิ่นต้นแบบในการพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่การยกระดับศักยภาพเยาวชนไทยในด้าน การพัฒนาตามแนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ทุกพื้นที่ประเทศไทย รศ. ชานนท์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ มหกรรม SIY Expo ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ หอประชุมกองทัพอากาศ เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ โครงการ Social Innovation & Youth คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. ได้ที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ “SIYPROJECT” https://www.facebook.com/SIYPROJECT หรืออีเมล siy.innovation@gmail.com
หมายเหตุถึงกองบรรณาธิการ: รายชื่อ 34 พื้นที่ ที่เข้าร่วมโครงการ SIY แบ่งตามภูมิภาคดังนี้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 13 พื้นที่ ได้แก่
อบต. ดอน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
อบต. สะสมใหม่พัฒนา อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
อบต. หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์
ทต. นาจะหลวย อ.นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี
อบต. แมด อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ
ทต. กุดข้าวปุ้น อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี
อบต. เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี
อบต. คำสะอาด อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
ทต. คำม่วง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์
ทต. อากาศอำนวย อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร
ทต. อุ่มเม่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
ทต. งิ้วด่อน อ.เมือง จ.สกลนคร
ทต. บ้านแฮด อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น
ภาคเหนือ 11 พื้นที่ ได้แก่
ทต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่
อบต.เขื่อนผาก อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
ทต.บ้านปล้อง อ.เทิง จ.เชียงราย
ทต.สายน้ำคำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย
อบต.ศรีเมืองชุม อ.แม่สาย จ.เชียงราย
ทต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย
ทต.ตลิ่งชัน อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย
ทต.หาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย
ทต.พุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์
อบต.เขาชนกัน อ.เขาขนกัน จ.นครสรรค์
อบต.วัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตร
ภาคกลาง 5 กลาง ได้แก่
ทต.เขาพระงาม อ.เมือง จ.ลพบุรี
ทต.บ้านกล้วย อ.เมือง จ.ชัยนาท
อบต.ลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี
อบต.ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
อบต.บางพลับ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง
ภาคใต้ 5 พื้นที่ ได้แก่
อบต.กะดุนง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
อบต.ดอนทราย อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี
อบต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
อบต.ยะหา จ.ยะหา จ.ยะลา
อบต.ละแอ อ.ยะหา จ.ยะลา