เหตุใดพายุไต้ฝุ่นหมายเลข 19 หรือที่รู้จักและเรียกกันในชื่อ “ฮากิบิส (Hagibis)” นั้น จึงมีความอันตรายอย่างมาก และจะถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกได้หรือไม่ ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านมาลองหาคำตอบไปด้วยกัน
โดยธรรมชาติ ไต้ฝุ่นจะก่อตัวขึ้นบริเวณใกล้กับเส้นศูนย์สูตร เนื่องจากมีกระแสน้ำอุ่นที่ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ เมื่อพลังงานความร้อนมากพอ อากาศที่อบอุ่นและความชื้นจากผิวน้ำที่ร้อนขึ้นนั้น เป็นเหตุให้พื้นที่ความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้น ในขณะที่พื้นที่โดยรอบมีความกดอากาศสูงกว่า จึงเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ความกดอากาศต่ำ
เมื่อลมจากการเคลื่อนที่ดังกล่าวรวมเข้ากับแรงจากการหมุนของโลก ผลของปรากฏการณ์นี้ก็คือพายุหมุนนั้นเอง โดยหากเกิดในซีกโลกเหนือ จะมีทิศทางการหมุนตามเข็มนาฬิกา และทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ ส่วนบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำในใจกลางนั้น เรียกกันว่า ตาพายุ โดยเป็นบริเวณที่ทุกสิ่งเงียบสงบ ราวกับไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเลย
เนื่องจากระดับความรุนแรงของพายุหมุนนั้น แตกต่างกันออกไปตามที่ตั้งของแต่ละประเทศแต่ละทวีป ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการจัดระดับความรุนแรงของพายุออกเป็น 5 ระดับ โดยมีความเร็วลมของพายุอยู่ที่ 117-194 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงค่าความกดอากาศที่ตำแหน่งใจกลางของพายุด้วย
พายุฮากิบิสนั้น มีความเร็วลมอยู่ที่ราว 198 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และค่าความกดอากาศที่ใจกลางเท่ากับ 915 hPa (เฮกโตปาสกาล) ซึ่งเป็นตัวเลขในระดับที่สูงที่สุดของมาตรวัดความรุนแรงของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
นอกจากความรุนแรงในระดับสูงที่สุดแล้วนั้น ยังมีเหตุผลอีก 4 ข้อ ที่ทำให้พายุฮากิบิสมีความพิเศษและอันตรายอย่างยิ่ง นั่นคือ
1. ขนาดของพายุ การสังเกตลักษณะของพายุสามารถทำได้จากภาพถ่ายดาวเทียม ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พายุฮากิบิสประกอบไปด้วยเมฆเป็นจำนวนมาก หากคิดพื้นที่ที่มีความเร็วลมมากกว่า 54 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 1,400 กิโลเมตร (หรือคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของความยาวของหมู่เกาะญี่ปุ่นเลยทีเดียว) ดังนั้น ทันทีที่พายุเข้าใกล้ชายฝั่ง ก็จะเริ่มส่งผลกระทบอย่างรวดเร็ว มีระยะเวลาในการปะทะที่ยาวนานขึ้น รวมถึงส่งผลไปเป็นวงกว้างอีกด้วย
2. ความทรงพลังของพายุ เมื่อฮากิบิสเคลื่อนที่เข้าใกล้บริเวณหมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา (Northern Mariana Islands) ในมหาสมุทรแปซิฟิก ความกดอากาศที่ใจกลางพายุลดลงอย่างรวดเร็วจาก 992 เฮกโตปาสกาล เหลือ 915 เฮกโตปาสกาล ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ดังนั้น นอกจากฮากิบิสจะเป็นพายุโซนร้อนที่รุนแรงที่สุดของปีนี้แล้ว มันยังเป็นพายุที่เพิ่มความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วเป็นลูกที่ 9 ในประวัติศาสตร์ที่เคยมีการบันทึกกันมาอีกด้วย กรมอุตุนิมวิทยาของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า เมื่อฮากิบิสเข้าปะทะกับญี่ปุ่น ความกดอากาศของมันจะอยู่ที่ 950 เฮกโตปาสกาล ซึ่งจะเป็นพายุที่ทรงพลังที่สุด นับแต่ญี่ปุ่นเคยประสบมา
3. ช่วงเวลาที่เข้าปะทะ ช่วงเวลาที่ฮากิบิสเข้าปะทะญี่ปุ่นนั้น ตรงกับช่วงเวลาที่พระจันทร์เต็มดวงพอดี นั่นหมายความว่า เป็นช่วงเวลาที่ระดับน้ำทะเลจะขึ้นสูงกว่าระดับปกติอยู่แล้ว เมื่อพายุเข้าโจมตี ระดับน้ำที่สูงเป็นทุนอยู่แล้ว ผนวกกับอิทธิพลจากพายุที่ก่อให้เกิดคลื่นและลมที่รุนแรง จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดน้ำท่วมได้อย่างมีนัยสำคัญ
4. พื้นที่ที่รับผลกระทบ หากย้อนไปเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ญี่ปุ่นได้เผชิญหน้ากับพายุหมายเลข 15(Faxai) มาแล้ว ซึ่งเป็นพายุที่รุนแรงอีกลูกหนึ่ง ก่อให้เกิดลมกรรโชกรุนแรงสูงสุดถึง 207 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุได้เข้าปะทะพื้นที่คันโตทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น โดยเฉพาะในจังหวัดชิบะ ส่งผลให้มีทั้งผู้เสียชีวิต หลังคาของบ้านหลายร้อยหลังถูกลมพัดเสียหาย รวมไปถึงไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ได้นานนับสัปดาห์ การมาของพายุฮากิบิสเอง ก็เข้าปะทะในทิศทางเดิมกับเมื่อต้นเดือนกันยายน จึงเป็นเสมือนการซ้ำรอยแผลเก่าที่ญี่ปุ่นเคยได้รับผลกระทบมาแล้วนั่นเอง
หากพิจารณาตามการจัดมาตรฐานความรุนแรงของกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งแบ่งระดับความรุนแรงของพายุเฮอริเคนเป็น 5 ระดับ (โดยพื้นฐานแล้วเหมือนกับพายุไต้ฝุ่น) ที่ระดับ 5 หรือระดับสูงสุด ความเร็วลมมาตรฐานถูกกำหนดไว้ที่ 70 เมตรต่อวินาทีหรือสูงกว่า นอกจากนี้ การวัดความเร็วลมดังกล่าว จะทำการวัดหาค่าเฉลี่ยในช่วงเวลา 1 นาที ในขณะที่ตามมาตรฐานญี่ปุ่นจะทำการวัดที่ช่วงเวลา 10 นาที นั่นทำให้ระดับความแรงลมที่วัดได้ของกรมอุตุนิยมวิทยาอเมริกาจะมากกว่าเล็กน้อย (ราว 1.2 เท่า)
สำหรับความเร็วของลมที่วัดได้จริงของฮากิบิส พบว่าอยู่ที่ 72 เมตรต่อวินาที ระดับความรุนแรงของฮากิบิสจึงอยู่ที่ระดับ 5 และอาจกล่าวได้ว่าใกล้เคียงกับระดับ 4 ก็ได้ และดังนั้น มันจึงห่างไกลจากระดับ 6 อยู่มาก (ถ้าหากมีการกำหนดความรุนแรงในระดับ 6 ขึ้นมาจริง ๆ)
อย่างไรก็ตาม พายุหมุนที่ได้ชื่อว่ารุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกนั้นคือ พายุเฮอริเคน Patricia ซึ่งเข้าปะทะประเทศเม็กซิโกและตอนกลางของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2015 โดยมีความเร็วลมอยู่ที่ 94 เมตรต่อวินาที และมีความกดอากาศที่ใจกลางพายุรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของโลกอีกด้วย
พายุฮากิบิสนั้น ถือเป็นพายุโซนร้อนที่มีความรุนแรงที่สุดในปีนี้ และยังมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 60 ปีที่ญี่ปุ่นเคยประสบพบมา บวกกับการเข้าปะทะในช่วงเวลาที่สภาพแวดล้อมมีความเปราะบาง ยิ่งทำให้ผลกระทบจากพายุนั้นทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอนาคตก็อาจมีพายุหมุนที่รุนแรงเช่นนี้ หรืออาจจะรุนแรงยิ่งกว่าก็เป็นได้ แต่จากประสบการณ์ที่มนุษย์ได้เคยเผชิญหน้ากับพายุที่รุนแรงเช่นฮากิบิสมาแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่า ย่อมต้องมีแผนการรับมือที่ดีมากขึ้นไปอีกในอนาคตเช่นกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ประเภทของพายุ
- การเกิดพายุหมุนเขตร้อน
- เกร็ดความรู้เรื่อง “พายุ”
- การตั้งชื่อพายุ