มาจากชื่อเทพเจ้าTyphon (ไทฟอน) หรือ Typhoeus (ไทฟีอัส) เป็นอสุรกายยักษ์เจ้าแห่งพายุมีร่างกายขนาดใหญ่มหึมาสูงใหญ่เทียมฟ้าจรดดาวเป็นยักษ์ครึ่งคนครึ่งงู ลำตัวเป็นคน มีดวงตาเรืองแสงแดงดังเปลวเพลิง มองไปทางไหน ก็พินาศมอดไหม้เป็นจุล ส่วนปากสามารถพ่นพายุไฟออกมาทำลายทุกสิ่ง ในขณะที่ขาทั้งสองข้างเป็นลำตัวงูขนาดใหญ่สองตัว เมื่อมันเคลื่อนที่ ลำตัวงูทั้งสองนั้นจะบิดเกลียวม้วนและส่งเสียงขู่ฟ่อ ยิ่งกว่านั้นบนหัวของมันยังมีหัวงูอีก100 หัว แต่ละหัวต่างก็ส่งเสียงสนั่นไปทั่ว มีทั้งเสียงกรีดร้อง หอน หรือครางอย่างโหยหวน ซึ่งเป็นเสียงของสัตว์ทั้งหลายที่ถูกจับกินเป็นอาหาร อสุรกายยักษ์ไทฟอนมีความร้ายกาจขนาดหนัก ถึงขั้นเกือบเอาชนะเทพเจ้าซูส (Zeus) ราชาแห่งทวยเทพมาแล้ว ด้วยขนาดใหญ่โตและพลังทำลายล้างสูงจึงไม่น่าแปลกใจเลยใช่ไหมคะ ว่าทำไมไทฟอนจึงเป็นที่มาของคำว่า พายุไต้ฝุ่น (Typhoon) ซึ่งเป็นพายุที่มีความรุนแรงระดับสูงสุด
Ex. Finally, Zeus with his thunderbolt overcomes Typhon.
(ในที่สุดซูสกับสายอสุนีบาตของเขาก็โค่นล้มเจ้ายักษ์ไทฟอนลงได้)
คำนี้มาจากตำนานเทพที่ชื่อว่าAchilles(อาคิลลิส) ในตอนแรกเกิดนั้นผู้เป็นแม่ได้จุ่มร่างเขาลงไปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เพื่อหวังให้ลูกเป็นอมตะ แต่ตอนจุ่มก็ต้องจับตรงข้อเท้าเอาไว้ ทำให้ร่างกายทุกส่วนคงกระพันแข็งแกร่ง อาวุธชนิดใดก็ทำอันตรายไม่ได้ ยกเว้นแต่บริเวณตั้งแต่ข้อเท้าลงไป เพราะเป็นส่วนที่ไม่ได้จุ่มลงน้ำ ต่อมาอาคิลิสเข้าร่วมในสงครามกรุงทรอยอาคิลลิสเป็นนักรบที่ฉกาจฉกรรจ์ เอาชนะคู่ต่อสู้มาตลอด จนกระทั่งถูกเจ้าชายปารีสฝ่ายกรุงทรอยยิงธนูมาปักที่ส้นเท้าพอดิบพอดี อาคิลิสจึงถึงแก่ความตายในที่สุด เราจึงเปรียบจุดอ่อน หรือข้อบกพร่องของเราเป็นเหมือนส้นเท้าของอาคิลิสนั่นเองค่ะ
Ex. Prayuth was a good man but his temper was his Achilles' heel.
(ถึงแม้ว่าประยุทธ์จะเป็นคนดี แต่ความอารมณ์ร้อนคือจุดอ่อนของเขา)
มาจากชื่อเทพเจ้าPhobos (โฟบอส) เป็นเทพแห่งความกลัว โฟบอสเป็นลูกชายของเทพเจ้ามาร์ (Mars) หรือเทพเจ้าแห่งสงคราม โฟบอสได้ติดตามบิดาไปทำสงครามรบราฆ่าฟันอยู่บ่อยครั้ง จนสร้างความหวาดกลัวไปทั่ว ต่อมาคำว่า Phobos กลายเป็นรากศัพท์ของคำว่า Phobia ซึ่งมีความหมายถึง ความกลัวอย่างรุนแรงที่มากกว่าความกลัวธรรมดา (Fear) เช่น อาการกลัวที่สูง (Acrophobia) อาการกลัวที่แคบ (Claustrophobia) ผู้ที่เป็นโรคกลัวจะมีอาการต่าง ๆ เมื่อเจอสิ่งเร้า เช่น ใจสั่น หายใจไม่ทัน มือสั่น ปากสั่น หรือกระทั่งหมดสติและต้องมีการรักษาในทางจิตวิทยา
Ex. Many Americans have a Friggatriskaidekaphobia.
(ชาวอเมริกันหลายคนเป็นโรคกลัววันศุกร์ที่ 13)
มาจากชื่อยักษ์ Atlas (แอตลัส) ในตำนานกรีกเมื่อครั้งที่บรรดายักษ์ไททันเปิดศึกทำสงครามกับพวกเทพแห่งเขาโอลิมปัส พวกยักษ์ไททันสู้ไม่ได้จึงพ่ายแพ้ไป เพื่อเป็นการลงโทษที่บังอาจมาก่อสงครามกับเทพ เทพเจ้าซูส (Zeus) ราชาแห่งเขาโอลิมปัส จึงสั่งให้ แอตลัส หนึ่งในยักษ์ไททันให้แบกลูกโลก (หรือบ้างก็ว่าแบกท้องฟ้า) เอาไว้บนไหล่เพื่อเป็นการทำโทษ ต่อมานักภูมิศาสตร์ชาวเบลเยียมได้นำชื่อยักษ์แอตลัสมาเป็นชื่อบนหน้าปกหนังสือแผนที่โลก แอตลัสจึงกลายเป็นคำเรียกแผนที่โลกที่เป็นเล่มหนังสือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Ex. Many atlases often feature geopolitical, social, religious and economic statistics.
(หนังสือแผนที่โลกมักให้ข้อมูลด้านภูมิรัฐศาสตร์ สังคม ศาสนา และสถิติทางเศรษฐกิจ)
มีที่มาจากตำนาน Narcissus (นาร์ซิสซัส)ชายหนุ่มรูปโฉมงดงามเป็นที่หมายปองของเหล่านางอัปสร แต่นาร์ซิสซัส มิได้รักตอบผู้ใดเลย ด้วยความหยิ่งทะนง ยโสในความหล่อเหลาจนคิดว่าไม่มีใครที่เหมาะสมคู่ควรพอจะได้รับความรักจากเขา จนนางอัปสรองค์หนึ่งเกิดความเจ็บแค้น จึงขอให้เทพเนเมซิส (Nemesis) เทวีแห่งความพยาบาทลงโทษนาร์ซิสซัสที่หลงรูปโฉมของตัวเองมากเกินไป เทพเนเมซิสจึงล่อลวงนาร์ซิสซัสไปที่บ่อน้ำ เมื่อเขาเห็นเงาสะท้อนของตนในน้ำก็ตกหลุมรักเงานั้นทันที โดยไม่ทราบเลยว่ามันเป็นเพียงเงาสะท้อน นาร์ซิสซัสอยากสัมผัสใบหน้าอันหล่อเหลา แต่ครั้นเมื่อเอามือเอื้อมลงไปในน้ำ เงาในน้ำก็หายไป นาร์ซิสซัสจึงเศร้าโศกมากถึงขั้นไม่กินไม่นอน เอาแต่นั่งเฝ้ามองเงาสะท้อนของตัวเองในน้ำด้วยความรักใคร่ จนสุดท้ายเค้าก็ตรอมใจตายข้างบ่อน้ำนั้น
Ex. Many teenagers are narcissistic and only care about their number of views and likes in social media.
(วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยเป็นพวกหลงตัวเองและสนใจเฉพาะยอดวิวยอดไลค์ในสังคมออนไลน์เท่านั้น)