Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดบนดวงจันทร์

Posted By Rezonar | 21 ต.ค. 62
12,174 Views

  Favorite

“หากครั้งแรกมันไม่สำเร็จ ก็แค่ลองใหม่อีกครั้ง” นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล กล่าวถึงความผิดพลาดในการลงจอดของยานอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งตัวท่านเองได้มาร่วมสังเกตการณ์ เพื่อเป็นสักขีพยานของความพยายามและความสำเร็จ ในห้องสังเกตการณ์ ขณะที่ยานสำรวจดวงจันทร์ของอิสราเอลกำลังลงจอดที่พื้นผิวดวงจันทร์

 

ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรกของอิสราเอลนี้ ถ้าหากสำเร็จ ก็จะเป็นประเทศที่ 4 ของโลก ที่สามารถควบคุมยานลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้อย่างสมบูรณ์ ถัดจากสหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต และจีน โดยยานของอิสราเอลนั้นเป็นยานอวกาศที่ไร้ผู้ควบคุมมีชื่อว่า “เบเรชีต (Beresheet)” มีความหมายตามภาษาฮิบรูว่า “ในเวลาแห่งการเริ่มต้น” ออกเดินทางจากโลกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ก่อนจะเข้าสู่วงโคจรของแรงดึงดูดของดวงจันทร์ และทำการลงจอดในราวเดือนเมษายน 2019

ภาพ : Shutterstock

 

การลงจอดที่ล้มเหลว

ภารกิจหลักของยานลำน้อยพิกัด 585 กิโลกรัม ที่มีขนาดพอ ๆ กับเครื่องล้างจานอัตโนมิตินั้น คือการทดสอบอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอิทธิพลสนามแม่เหล็กของดวงจันทร์ ดังนั้น อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการสำรวจครั้งนี้จึงได้แก่ เครื่องวัดความเข้มสนามแม่เหล็ก (Magnetometer) และอุปกรณ์สะท้อนแสงเลเซอร์ (Laser Retroreflector) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ NASA ได้ฝากให้ทำการติดตั้งไปในยานด้วย นอกจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าวแล้ว สิ่งชีวิตชนิดหนึ่งอยู่ในยานอีกด้วย มันคือ “หมีน้ำ (Tardigrade)” สิ่งมีขีวิตขนาดจิ๋ว จำนวนกว่า 2-3 พันตัวเลยทีเดียว

ภาพ : Shutterstock

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่กำลังลงจอด ได้เกิดความผิดพลาดบางอย่างขึ้นกับระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม ส่งให้เบเรชีตกระแทกเข้ากับพื้นผิวดวงจันทร์ และขาดก่อนติดต่อไปในที่สุด แต่ความล้มเหลวในการลงจอด ก็อาจไม่เลวร้ายไปเสียทีเดียว

 

รู้จักกับหมีน้ำ

ย้อนหลังไปในปี 1983 ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นได้ออกสำรวจทวีปแอนตาร์กติกเพื่อเก็บตัวอย่างตะไคร่น้ำ เป็นที่มาของการค้นพบสิ่งมีขีวิตที่แปลกประหลาดที่สุดเท่าที่เคยพบมา

 

เจ้าสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ เกาะอยู่ตามตะไคร่น้ำ หน้าตามันคล้ายกับตุ๊กตาหมีผสมกับหนอนผีเสื้อ มีความยาวในระดับมิลลิเมตร นักวิทยาศาสตร์ได้แช่แข็งตะไคร่น้ำตัวอย่างในถุงซิปล็อกที่อุณหภูมิ -4 องศาเซลเซียสเป็นเวลากว่า 30 ปี และหลังจากถูกจองจำในความเย็นมาเนิ่นนาน เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำการละลายน้ำแข็ง ก็พบว่า พวกมันยังคงเดินไปรอบ ๆ จานทดลองเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น และเริ่มทำการสืบพันธุ์

 

หมีน้ำมีหลายสายพันธุ์ โดยภาพรวมแล้วพวกมันสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ทั้งหมด ไม่เว้นแม่แต่สภาพแวดล้อมที่โหดร้ายอย่างสุดโต่งก็ตาม ในสภาพแวดล้อมที่ร้อน พวกมันจะสร้างโปรตีนออกมาเพื่อปกป้องตัวเองจากความแปรปรวนของอุณภูมิ หรือในสภาวะที่แห้งแล้ง มันจะหดตัวลงคล้ายเม็ดยา ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แม้ไม่มีน้ำ หรือกระทั่งไม่ติดอยู่กับน้ำแข็งที่เย็นเยือกอีกด้วย หมีน้ำจึงเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ทนทานที่สุดบนโลกของเรา

ภาพ : Shutterstock

 

เหตุผลที่หมีน้ำถูกส่งสู่ห้วงอวกาศ

มูลนิธิอาร์กมิชชัน (Arch Mission Foundation) องค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการติดตั้ง “ห้องสมุด” ไปกับยานเบเรชีตด้วย โดยเป้าหมายประการหนึ่งขององค์กรคือการ “สำรองข้อมูล” ของโลกและบันทึกเก็บเอาไว้อีกนับพันล้านปี โดยเฉพาะข้อมูลจากความสำเร็จในการสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้ ในอนาคตหากมนุษย์สูญพันธุ์ลงไป และมีมนุษย์ต่างดาวมาทำการสำรวจดวงจันทร์ ก็คงจะได้ค้นพบข่าวสารข้อมูลจากห้องสมุดแห่งนี้ จนเข้าใจได้ถึงอารยธรรมของมนุษย์ได้ในที่สุด

 

ห้องสมุดที่ว่านั้น ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกจารึกลงบนแผ่นโลหะนิกเกิล อัดแน่นไปด้วยข้อมูลเกือบทั้งหมดที่มีในวิกิพีเดียเป็นภาษาอังกฤษ, สำเนาของหนังสือคลาสสิกขึ้นหิ้งจำนวนมาก, ตัวอย่างเลือดมนุษย์ แม้กระทั่งยาลดความอ้วนก็ถูกบันทึกเอาไว้ด้วย และที่ขาดไม่ได้คือ “หมีน้ำ” ที่ถูกเคลือบไว้ด้วยเรซิ่น(คล้ายกับอำพันที่เก็บรักษาซากยุงเอาไว้) นี่อาจเป็นครั้งแรกที่หมีน้ำถูกส่งไปยังดวงจันทร์ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกมันถูกส่งสู่ห้วงอวกาศ

 

ผู้รอดชีวิตจากห้วงอวกาศ

ในปี 2007 เป็นครั้งแรกที่หมีน้ำถูกส่งออกไปสู่ห้วงอวกาศกับดาวเทียม โดยพวกมันจะถูกทำให้อยู่ในสถานะพิเศษที่เรียกว่า Cryptobiosis ทำได้โดยการเหน็บขาทั้งหมดของมันและไล่ความชื้นทั้งหมดออกจากตัว ในสถานะนี้ เจ้าหมีน้ำจะผลิตกลีเซอรอลสำหรับป้องกันการแข็งตัว รวมไปถึงหลั่งน้ำตาลไว้สำหรับห่อหุ้มตัวเองในรูปแบบคล้ายมัมมี่ โดยมัมมี่หมีน้ำนี้ จะลดการเผาผลาญลงไปกว่า 99.99% เพื่อรอสภาวะที่เหมาะสมมากกว่า

 

เป็นเวลากว่าสิบวัน ที่แม้จะต้องสัมผัสกับสุญญากาศโดยตรงและรับรังสีที่แผ่อยู่ในห้วงอวกาศก็ตาม ก็ยังมีหมีน้ำบางส่วนที่สามารถรอดชีวิตเมื่อกลับมาถึงโลกได้ จึงนับเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดแรกที่รอดชีวิตจากห้วงอวกาศ

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อกันว่า มันจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้แม้จะเป็นสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายเช่นบนดวงจันทร์

ภาพ : Shutterstock

 

จากสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดบนโลก สู่ความแข็งแกร่งที่สุดบนดวงจันทร์

เป็นเวลากว่า 4 พันล้านปีที่ดวงจันทร์ก่อตัวขึ้น และเป็นสถานที่ปลอดเชื้อต่าง ๆ โดยสมบูรณ์ จนกระทั่งการไปเยือนของมนุษย์ครั้งแรกเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่นำพาเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในอุจจาระและของเสียอื่น ๆ ไปยังดวงจันทร์ สำหรับครั้งนี้มนุษย์ก็ได้ส่งสิ่งมีขีวิตที่แปลกปลอมอีกชนิดหนึ่งขึ้นไป

 

ถ้าหากวันหนึ่งข้างหน้า นักบินอวกาศได้กลับไปเก็บตัวอย่างของหมีน้ำกลับมา แล้วพบว่ามันยังชีวิตอยู่ จะกลายเป็นการค้นพบที่นำไปสู่สมมติฐานต่าง ๆ ได้ นั่นคือในสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายมาก ๆ สิ่งมีชีวิตก็ยังมีความยืดหยุ่นพอที่จะรักษาชีวิตเอาไว้ได้ หรือกระทั่งสมมติฐานที่ว่าสิ่งมีชีวิตอาจไม่ได้เริ่มต้นขึ้นบนโลก แต่อาจเป็นเชื้อจุลินทรีย์จากโลกอื่น การอยู่รอดบนดวงจันทร์แม้อยู่ในสถานะ “เรียบง่ายที่สุด” ก็อาจหมายถึงการที่สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่รอดได้ยาวนาน พร้อม ๆ กับเดินทางไปในห้วงอวกาศอันลึกลับ รอเวลาที่สักวันค้นพบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะสามารถกลับมาแพร่พันธุ์ รวมไปถึงดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Rezonar
  • 10 Followers
  • Follow