การอยู่ไฟหลังคลอด เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยสำหรับคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูก เพราะมีความเชื่อว่าการอยู่ไฟ หรือการนอนอยู่ใกล้ ๆ กองไฟ จะช่วยฟื้นฟูร่างกายที่เหนื่อยล้าจากการคลอดลูก ช่วยให้ร่างกายของคุณแม่กลับเข้าสู่สภาวะสมดุลได้เร็ว กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วขึ้น แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การอยู่ไฟก็ลดหายลงไป หรือปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
หลังจากคลอดลูกแล้ว คุณแม่จะต้องไปนอนบนแผ่นกระดานที่เรียกว่า "กระดานไฟ" ซึ่งกระดานนี้มีการจัดวาง 2 แบบตามแต่ละบ้านจะเลือกใช้ แบบแรกคือการยกกระดานให้สูง แล้วก่อกองไฟไว้ด้านล่าง แบบนี้เรียกว่า "อยู่ไฟญวน" หรือ "ไฟแคร่" ส่วนอีกแบบคือการก่อกองไฟไว้ข้าง ๆ กระดาน เรียกว่า "อยู่ไฟไทย" หรือ "ไฟข้าง"
การอยู่ไฟนี้คุณแม่ต้องเข้าไปในเรือนไฟพร้อมกับลูก และห้ามออกมาจากเรือนไฟเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทั้งหมดนี้จะกินระยะเวลาประมาณ 7-15 วัน โดยให้คุณพ่อหรือญาติคอยมาคุมฟืนไฟไม่ให้ร้อนเกินไป หรือหากคุณแม่ร้อนมากก็สามารถใช้กาน้ำที่อยู่ด้านข้างราดหรือพรมกองไฟได้เลย
ตลอดระยะเวลาอยู่ไฟ คุณแม่ต้องอาบน้ำร้อนและดื่มเฉพาะน้ำอุ่น งดเว้นของแสลงทุกชนิด เน้นกินเฉพาะข้าวกับเกลือหรือปลาเค็ม เพราะเชื่อว่าจะไปทดแทนเกลือที่เสียไปทางเหงื่อจากการอยู่ไฟ ถ้าคุณแม่มีอาการปวดเมื่อยก็อาจมีการประคบสมุนไพรร่วมด้วย
เมื่อยุคสมัยใหม่ไม่เอื้อต่อการนอนอยู่ในเรือนไฟ จึงมีการปรับเปลี่ยนการอยู่ไฟเป็นการใช้ความร้อนควบคู่กับสมุนไพร ให้ความร้อนเฉพาะช่วงท้อง ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนวดประคบด้วยลูกประคบสมุนไพร, การประคบด้วยกระเป๋าน้ำร้อน, การใช้ชุดคาดไฟรัดไว้บริเวณหน้าท้อง, อบซาวน่าด้วยสมุนไพร, การนาบหม้อเกลือ, การดื่มและอาบน้ำสมุนไพร, การนวดคลายเส้นด้วยสมุนไพร และการเข้ากระโจมอบไอน้ำจากสมุนไพร
วิธีการเหล่านี้ นอกจากจะช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกายคุณแม่ให้เป็นปกติแล้ว ยังช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง และปลอบประโลมร่างกายของคุณแม่ไปในตัวได้อีกด้วย
1. ช่วยให้คุณแม่ได้พักผ่อน ได้รับความอบอุ่นเพียงพอ
2. ช่วยให้มดลูกหดตัวเร็วขึ้น เข้าอู่เป็นปกติได้ไวขึ้น
3. ช่วยขับน้ำคาวปลา
4. ช่วยให้แผลฝีเย็บและแผลภายในมดลูกแห้งตัวเร็วขึ้น
5. ช่วยขับสิ่งตกค้างต่าง ๆ ภายในมดลูกออกมาได้ดีขึ้น
6. ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ลดอาการเมื่อยล้า
การอยู่ไฟหลังคลอด จำเป็นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อให้ทราบว่าสภาวะร่างกายของคุณแม่ ณ ขณะนั้นเป็นอย่างไร มีโรคประจำตัวไหม ควรพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายแบบไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด เพราะหากคุณแม่มีภาวะขาดน้ำหรือร่างกายอ่อนแอมาก การอยู่ไฟจะยิ่งเป็นอันตราย และอาจทำให้คุณแม่ช็อกจนเป็นอันตรายได้เลยทีเดียว
ทั้งนี้ การอยู่ไฟหลังตลอด เหมาะสำหรับคุณแม่ที่คลอดเองตามธรรมชาติมากกว่า เพราะสามารถอยู่ไฟได้เลยหลังจากออกจากโรงพยาบาล หรือภายใน 3-7 วัน ส่วนคุณแม่ที่ผ่าคลอด หากสนใจจะอยู่ไฟ จำเป็นต้องรอแผลผ่าตัดหายสนิทก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน